นอกจากใช้บริโภคเป็นอาหารในชีวิตประจําวันแล้ว ผลมะละกอดิบ ผล มะละกอสุก และส่วนของยางยังใช้เป็นประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมได้อีกหลาย ๆ ด้าน เช่น เนื้อมะละกอดิบสามารถนําไปทํามะละกอเชื่อม แช่อิ่ม ดองเค็ม หรือใช้ในโรงงานปลา กระป๋อง ผลมะละกอสุกสามารถใช้ทํานํ้าผลไม้ ผลิตซอส ผลไม้กระป๋อง แยมลูกกวาด และ มะละกอผง เปลือกมะละกอใช้ทําเป็นอาหารสัตว์ หรือสีผสมอาหาร ยางมะละกอใช้ในโรงงานผลิตเบียร์ ผลิตนํ้าปลา อาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมเคมี และเครื่องสําอางค์ เป็นต้น
มะละกอ เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานผลสุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ในต่างประเทศนั้นนิยมมะละกอพันธุ์ที่มีผลขนาดเล็ก มีนํ้าหนักต่อผลไม้เกิน 600 กรัม แต่มะละกอของไทยยังมีปริมาณการผลิตเพื่อการส่งออกโดยตรงมีน้อย และพันธุ์ที่ปลูกส่วนมาก เป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะสําหรับส่งตลาดต่างประเทศ สถานีวิจัยปากช่องได้ผลิตมะละกอสายพันธุ์บริสุทธิ์ปากช่อง 1 ซึ่งมีผลขนาดเล็กตรงตามความต้องการของตลาดยุโรป มีรสหวาน 12-14 องศาบริกส์ นํ้าหนักผล 350 กรัม เป็นพันธุ์ที่เหมาะสําหรับส่งเสริมให้ปลูกเป็นการค้าพันธุ์หนึ่ง นอกจากคุณสมบัติของผลดังกล่าวแล้ว มะละกอพันธุ์นี้จะมีลักษณะใบมี 7 แฉกใหญ่ ใบกว้าง 50-60 ซม. ยาว 45-50 ซม. ก้านใบสีเขียวปนม่วง ยาว 70-75 ซม. ระยะเวลาปลูกประมาณ 8 เดือน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลได้ให้ผลผลิต 30- 35 กิโลกรัมต่อต้นในระยะ 18 เดือน และค่อนข้างทนต่อโรคใบด่าง
พันธุ์มะละกอที่คนไทยคุ้นเคยกันดี คือมะละกอแขกดำ มะละกอแขกดำมีจุดเริ่มต้นที่อำเภอดำเนินสะดวกจังหวัดราชบุรี จากนั้นก็กระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ มะละกอเป็นพืชที่กลายพันธุ์ง่ายเมื่อนำไปปลูกถิ่นอื่นนาน ๆ ลักษณะก็จะเปลี่ยนไป เมื่อพบสิ่งที่ดีผู้ปลูกก็จะเก็บสิ่งนั้นไว้ สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระจังหวัดขอนแก่นนำมะละกอแขกดำไปปรับปรุงพันธุ์ ได้ชื่อว่า “แขกดำท่าพระ” ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษนำแขกดำไปปรับปรุงพันธุ์ได้ชื่อว่า “แขกดำศรีสะเกษ” เกษตรกรที่จังหวัดจันทบุรี ปลูกมะละกอแขกดำกันมากจนเกิดการกลายพันธุ์ รู้จักกันดีในนาม “แขกดำหนองแหวน” และพันธุ์อื่น ๆเช่น มะละกอฮอลแลนด์ มะละกอพันธุ์ครั่ง มะละกอพันธุ์แขกนวล มะละกอพันธุ์ท่าพระ 1, 2 และ 3 เป็นต้น
การผลิตมะละกอให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพจะต้องเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่การเตรียมต้นกล้า การเตรียมแปลงปลูก การปลูกและการดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนี้
การเตรียมต้นกล้ามะละกอ
มะละกอไม่เหมาะที่จะหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในขั้นแรกมาก เพราะพื้นที่กว้างขวาง และต้นกล้าที่งอกใหม่ๆต้องการเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการเตรียมต้นกล้ามะละกอให้แข็งแรงก่อนแล้วจึงย้ายปลูกลงแปลงปลูก จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าการหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง การเตรียมต้นกล้ามะละกออาจใช้วิธีต่าง ๆ ได้ 2 แบบ คือ
- เพาะเมล็ดลงถุง
- เพาะเมล็ดลงแปลงเพาะ แล้วย้ายลงถุง
- การเพาะเมล็ดลงถุง การเพาะเมล็ดลงถุงโดยตรงนั้นเป็นวิธีที่สะดวก เตรียมดินผสมที่จะใช้เพาะเมล็ด ให้ร่วนโปร่ง โดยผสมดิน 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปุ๋ยคอกนั้นควรเป็นปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้ว และไม่ร้อน ส่วนอินทรียวัตถุอาจเป็นเศษหญ้าสับ แกลบ ถ่านหรือเปลือกถั่วก็ได้ แล้วแต่จะหาอะไรได้ในท้องถิ่น นําดินที่ผสมแล้ว ใส่ถุงขนาด 5×8นิ้ว ที่เจาะรูระบายนํ้าเรียบร้อยแล้วประมาณ 4 รูตั้งเรียงไว้กลางแจ้งใน บริเวณที่สามารถให้นํ้าได้อย่างสมํ่าเสมอทุกวัน หลังจากนั้นฝังเมล็ดมะละกอลงไปใต้ดินให้ลึกประมาณครึ่งเซนติเมตร ถุงละ 3 เมล็ด รดนํ้าให้ชุ่มทุกเช้าเย็น เมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 10-14 วัน หลังปลูก เมื่อต้นมะละกอมีใบจริง 2-3 ใบ ให้เลือกกล้าต้นที่แข็งแรงเอาไว้ ถอนต้นที่อ่อนแอออก ในการเพาะเมล็ดนี้ควรฉีดพ่นยาป้องกันกําจัดรา พวกแมนโคเซบผสมยาป้องกันแมลง เช่น โมโนโครโตฟอส และสารจับใบฉีดครั้งแรกเมื่อต้นกล้าเริ่มงอก และหลังจากนั้น ฉีดทุก ๆ 10 วัน จนกว่าจะย้ายกล้าลงแปลงปลูกซึ่งจะสามารถย้ายกล้าปลูกเมื่อเพาะเมล็ด ได้ 45-60 วัน หลังจากถอนแยกต้นกล้าเหลือต้นเดียวแล้ว อาจสามารถเร่งให้ต้นกล้าเจริญเติบโต ได้เร็วขึ้นโดยให้ปุ๋ยสูตร 21-21-21 ที่มีธาตุอาหารรองผสมอยู่ด้วย โดยใช้ปุ๋ยอัตรา 2 ช้อน แกงต่อนํ้า 20 ลิตร และผสมไร่เทพ + โล่เขียว ตามอัตราส่วนแนะนำ ฉีดพ่นทุก ๆ 10 วัน
- การเพาะเมล็ดลงแปลงเพาะ หรือกะบะเพาะแล้วย้ายลงถุง เตรียมแปลงเพาะกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 3-5 เมตร ให้ความยาวแปลงอยู่ในแนวทิศเหนือใต้ ย่อยดินให้ละเอียดและผสมปุ๋ยคอกประมาณตารางเมตรละ 2 กิโลกรัม คลุกเคล้าปุ๋ยคอกกับดินที่ย้อยแล้วให้เข้ากัน แล้วยกเป็นรูปแปลงสูงจากระดับดิน เดิม 15 ซม. แล้วใช้ไม้ขีดทําร่องแถวตามความกว้างของแปลงลึกประมาณ 1 ซม. ให้แถวห่างกัน 25 ซม. จากนั้นโรยเมล็ดมะละกอลงในร่องแถวให้ห่างกันพอประมาณ จนตลอดแปลง หลังจากนั้นจึงรดนํ้าให้ชุ่ม ผสมด้วยยาฆ่าแมลงเพื่อกันมดคาบเมล็ดไป อาจใช้เซฟวิน 85 หรือ S-85 ก็ได้และรดนํ้าให้ชุ่มทุกวันเช้า-เย็น-เมื่อต้นกล้ามีใบจริงได้ 2-3 ใบ หรือ ประมาณ 21-25 วัน หลังจากเพาะให้ย้ายกล้าลงถุงพลาสติกขนาด 5×8 นิ้ว ถุงละ 1 ต้น ตั้งเรียงไว้ในที่ร่มมีแสง 50% ฉีดยาพ่นป้องกันโรคแมลง และให้ปุ๋ยเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดลงถุงโดยตรง
การเพาะเมล็ดลงกะบะพลาสติกก็ปฏิบัติคล้ายๆกัน โดยเอากระดาษหนังสือ พิมพ์รองก้นตะกร้าพลาสติก แล้วใส่ดินผสมเช่นเดียวกับที่เตรียมสําหรับเพาะในถุงลงไป เกลี่ยผิวหน้าดินให้เรียบ ทําร่องแถวเพาะห่างกันประมาณ 10 ซม. แล้วนําเมล็ดมะละกอหยอดลงไป รดนํ้าให้ชุ่มทุกวันเช้า-เย็น เมื่อกล้ามีใบจริงแล้วจึงย้ายลงถุงต่อไป และเมื่อต้นกล้าในถุงแข็งแรงดีแล้วจึงนําไปปลูกได้ ระยะเวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงย้ายกล้าลงปลูกในแปลงได้ใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดสําหรับการเพาะกล้ามะละกออยู่ในช่วงกลางเดือน มกราคม สามารถย้ายกล้าปลูกได้ในราวกลางเดือนมีนาคมและจะเริ่มเก็บผลได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลไม้ชนิด อื่น ๆ ในท้องตลาดออกน้อยทําให้จําหน่ายได้ราคาสูง
การเลือกพื้นที่ปลูกและการการเตรียมแปลง
มะละกอเป็นไม้ผลที่ชอบดินร่วนปนดินทราย ดินเหนียวปนดินร่วน หรือดินร่วนที่มีการระบายนํ้าได้ดีมีอินทรีย์วัตถุมาก ไม่ชอบนํ้าขัง และควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ช่วงระดับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ที่เหมาะสมคือ 5.5-7 มะละกอไม่ทนดินเกลือและไม่ทนลม แหล่งปลูกจึงควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมแรง ถ้าหลีกเลี่ยงในการเลือกพื้นที่ที่มีลมแรงไม่ได้ ควรทําแนวไม้กันลมโดยรอบด้วย มะละกอจะเจริญเติบโตได้ดีถ้าได้รับแสงแดดเต็มที่ มะละกอมีก้านใบยาวและกลุ่มใบจะมีมากที่ยอด จึงไม่ควรปลูกมะละกอให้ชิดกันเกินไป จะทําให้ไม่สะดวกในการป้องกันกําจัดศัตรูของมะละกอ ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 4 x 3 เมตร หรือ 3 x 3 เมตร แหล่งปลูกมะละกอควรอยู่ใกล้เมืองหรือมีทางคมนาคมสะดวก เนื่องจากผิวมะละกอบาง ทําให้เกิดการชอกชํ้าในการขนส่งได้ง่ายกว่าผลไม้ชนิดอื่น ๆ
การเตรียมแปลงปลูกมะละกอ
- ไถพื้นที่ปราบวัชพืช 2 ครั้ง ๆ แรกด้วยไถ 3 ผาน หรือ 4 ผาน ครั้งที่ 2 ให้ย่อย ดินให้เล็กด้วยผาน 7
- วัดระยะแปลงปลูกตามความต้องการ ควรปักหลักเล็ก ๆ ห่างจากหลักหลุมปลูก อีก 2 หลักโดยปักให้ห่างข้างละ 50 เซนติเมตร
- ขุดหลุมปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมให้ขอบหลุมห่างจากหลักกลางประมาณ 25 ซม. และขุดลึก 50 ซม. เอาดินขึ้นไว้บนปากหลุมอย่าให้โดนหลักเล็กทั้ง 2 ซึ่งจะเป็นหลักบังคับ ระยะปลูก
- ใส่ปุ๋ยคอกเก่า ๆ ประมาณ 1 พลั่วหรือครึ่งบุ้งกี๋ลงบนดินที่ขุดขึ้นมา และใส่ร็อกฟอสเฟตลงไปอีก 100 กรัม ถ้าไม่มีร็อกฟอสเฟตให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่แทนจํานวน 20 กรัม หรือประมาณ 2 ช้อนแกงต่อหลุม คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันดีแล้วใช้จอบกลบ ดินลงหลุมให้เสมอปากหลุม
- ก่อนปลูกหาไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร ทําเครื่องหมายที่ตําแหน่ง 0.00, 0.50 เมตร และ 1 เมตร เป็นเครื่องหมายต้นปลูก เพื่อให้แถวปลูกตรงกันทุกด้าน
ช่วงเวลาและฤดูการปลูก
ปกติแนะนําให้เกษตรกรเพาะกล้าในช่วงกลางหรือปลายเดือนมกราคม ซึ่งจะสามารถย้ายต้นกล้าลงปลูกได้ประมาณกลางเดือนมีนาคม และจะเก็บเกี่ยวผลได้ตั้งแต่เดือน ตุลาคม เป็นต้นไปซึ่งจะเป็นช่วงที่มีผลไม้ประเภทอื่น ๆ ในท้องตลาดออกน้อยทําให้มะละกอมีราคาสูง ถึงแม้ว่าเกษตรกรชาวสวนที่ปลูกโดยอาศัยนํ้าฝน ก็จะมีผลผลิตออกขายได้ยาวนาน แต่ถ้าเพาะเมล็ดช้าหรือย้ายปลูกช้าจะทําให้ช่วงที่มะละกอออกดอกติดผลตรงกับช่วงแล้งต้องให้นํ้าชลประทานมากจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขึ้น มาก การเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่ได้ราคาสูงจะได้น้อยกว่า
วิธีการปลูก
ให้นําต้นกล้าเรียงกระจายไว้ตามหลุมต่าง ๆ หลุมละหนึ่งถุง หลังจากนั้นกรีดถุง พลาสติกออก เอาต้นกล้าวางให้ตรงตําแหน่งระยะปลูกกลางหลุม กลบดินให้แน่น โดย เฉพาะรอบ ๆ โคนต้นเพื่อให้รากจับดินใหม่ได้เร็ว ต้นจะตรงกันทุกแถวแล้วรดนํ้าให้ชุ่ม ถ้าเกษตรกรปลูกมะละกอช่วงต้นฤดูฝน จะช่วยประหยัดทุนและแรงงานในการให้นํ้า โดยเฉพาะในช่วงปลูกใหม่ ๆ จะต้องให้นํ้ากับต้นกล้ามะละกอจนตั้งตัวได้โดยรดนํ้า 2-3 วันต่อครั้ง และที่สําคัญคือช่วงที่มะละกอออกดอกติดผล เป็นช่วงที่ต้องการนํ้ามาก การขาดนํ้าจะทําให้ดอกร่วง ผลร่วง ผลไม่สมบูรณ์ การให้นํ้ากับต้นมะละกออย่างสมํ่าเสมอ จึงทําให้มะละกอมีผลผลิตสูง โดยเฉพาะมะละกอที่ปลูกในที่ดอน หรือในเขตจังหวัดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การให้ปุ๋ย
ปุ๋ยมะละกอที่เตรียมไว้สําหรับรองก้นหลุมนั้น ยังไม่พอเพียงสําหรับการเจริญเติบโต และให้ผลผลิต จึงต้องมีการให้ปุ๋ยเสริมเพิ่มขึ้น เพื่อให้มะละกอมีการเจริญเติบโตเต็มที่มีลําต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะใส่หลังจากปลูกแล้ว 2-3 เดือน โดยแบ่งใส่ 3- 4 ครั้ง ในระยะ 1 ปี ตลอดช่วงฤดูฝน แบ่งใส่ครั้งละประมาณ 5 กิโลกรัมต่อต้น และใช้ปุ๋ยทางใบเช่น โล่เขียว + ไร่เทพ ตามอัตราส่วนแนะนำ ฉีดพ่นเป็นละอองฝอย ทุก ๆ 14 วันต่อครั้ง หลังย้ายปลูกเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง โดยใช้ในอัตรา 2 ช้อนแกง ต่อนํ้า 20 ลิตร ขณะเดียวกัน ก็อาจใช้ปุ๋ยทางดินสูตร 15-15-15 อัตรา ต้นละ 50 กรัมหลังจาก ย้ายปลูก 1 เดือน และใส่ทุกเดือนจนถึงเดือนที่ 3 หลังย้ายปลูกจะใส่เพิ่มเป็นต้นละ 100 กรัมทุกเดือน เมื่อมะละกอติดผลแล้วจะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 100 กรัม ผสม กับยูเรีย อัตรา 50 กรัมต่อต้น วิธีการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทางดิน ให้ใส่ปุ๋ยหว่านทางดิน พรวนกลบแล้วรดนํ้าตาม อย่าใส่ปุ๋ยกลบโคนต้น
การกำจัดวัชพืช
ในระยะที่ปลูกมะละกอใหม่ๆ เกษตรกรสามารถปลูกพืชแซม ร่วมกับมะละกอในช่องว่างระหว่างแถวระหว่างต้นเมื่อมีวัชพืชขึ้น การดายหญ้าพืชแซมควรดายหญ้ามะละกอไปด้วย แต่การดายหญ้าด้วยจอบควรระวังคมจอบสับต้น หรือรากมะละกอ จะทําให้ต้นมะละกอชะงักการเจริญเติบโต หรือทําให้เกิดโรครากเน่าได้ ทางที่ดีควรใช้เศษหญ้าแห้งคลุมโคนต้น ให้หนา ๆ จะทําให้ไม่มีเมล็ดหญ้างอกใหม่
การติดดอกออกผล
มะละกอเป็นพืชที่มีดอก 3 ชนิดอยู่คนละต้นคือ ต้นตัวผู้จะมีดอกตัวผู้ล้วนเป็นจํานวนมากอยู่บนก้านช่อยาวที่แตกแขนง ถ้าพบควรตัดทิ้งเพราะไม่ให้ผลหรือให้ผลได้ก็ไม่สามารถจําหน่ายได้คุ้มค่าเท่าต้นตัวเมีย หรือต้นสมบูรณ์เพศ
ต้นตัวเมียจะมีแต่ดอกเพศเมียเท่านั้น ดอกจะออกจากส่วนมุมด้านใบติดลําต้น เป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ รังไข่มีรูปร่างป้อม ให้ผลค่อนข้างกลม ช่องว่างในผลมีมากจึงไม่ค่อยนิยมเช่นกัน
ต้นสมบูรณ์เพศ จะมีช่อดอกติดกันเป็นกลุ่ม ต้นสมบูรณ์เพศจะมีดอกสมบูรณ์เพศ และดอกตัวผู้อยู่ในช่อดอกเดียวกัน และดอกสมบูรณ์เพศจะมี 3 ชนิดตามตําแหน่งของเกสร ตัวผู้ดอกสมบูรณ์เพศชนิดธรรมดา (Elongata) ทําให้ผลมีรูปร่างทรงกระบอกสวย เป็นที่นิยมของตลาด ผลที่เกิดจากดอกสมบูรณ์เพศที่ดอกตัวผู้ติดอยู่กับรังไข่ (Intermediate) ทําให้ผลบิดเบี้ยวและดอกสมบูรณ์เพศที่ทําให้ผลเป็นพลูลึก (Pantandria) ผลจากดอกสมบูรณ์ เพศสองชนิดหลังนี้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรผู้ปลูกต้องหมั่นคอยตรวจดูและปลิดออกตั้งแต่ผลยังเล็ก ๆ นอกจากนั้น แม้ว่ามีดอกสมบูรณ์เพศชนิดธรรมดา แต่ถ้าช่อดอกแตกแขนงและติดผลดก ผลจะเบียดกันมากทําให้ผลเล็กได้จึงขอแนะนําให้เด็ดผลเล็กที่อยู่ที่แขนงข้างออก ให้เอาไว้แต่ผลที่ปลาย ช่อดอกจึงจะได้ผลใหญ่สมํ่าเสมอกันทั้งต้น ถ้าทําทั้งสวนจะทําให้มีขนาดผลเกินมาตรฐาน จะสามารถขายง่ายและป้องกันการโค่นล้มได้อีกด้วย
โรคและแมลงศัตรูพืชในมะละกอ
เพลี้ยไฟ เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็กมาก มี 6 ขา มีลําตัวแคบยาว สีเหลืองซีด เมื่อโตเต็มที่มีปีกยาวบนหลังจึงบินได้และปลิวไปตามลมได้ด้วย มักพบระบาดในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้น ฤดูแล้ง อาการที่พบใต้ผิวใบจะแห้งเหี่ยว โดยเฉพาะเส้นกลางใบหรือขอบใบแห้งเป็นสีนํ้าตาล ถ้าเป็นกับผลทําให้ผลกร้านเป็นสีนํ้าตาล ในฤดูฝนจะไม่ค่อยพบถ้าพบอาจใช้นํ้าฉีดพ่นแรง ๆ ให้หล่นไป หรือใช้ยาฆ่าแมลงพวก ไดเมโธเอท หรือโมโนโครโตฟอส ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ทุก 5-7 วัน
ไรแดง เป็นสัตวขนาดเล็กมี 8 ขา จะทําให้ผิวใบจะไม่เขียวปกติเกิดเป็นฝ้าด่าง ถ้าดูใกล้ๆ จะพบตัวไรสีคลํ้า ๆ อยู่เป็นจํานวนมาก เดินกระจายไม่ว่องไว หรืออาจเห็นคราบไรสีขาว กระจายอยู่ทั่วไป แมลงศัตรูธรรมชาติคือด้วงเต่าเล็ก ตัวดําลําตัวรีตัวอ่อนด้วงเต่าก็กินไรได้ดี ถ้ามีไรระบาดมากให้ใช้ยากําจัดไรพวก ไดโคโฟล , อามีทราซ หรือ ไพริดาเบน ตามอัตราส่วนผู้ผลิตแนะนำฉีดพ่นในช่วงที่มีการระบาด
แมลงวันทอง แมลงวันทองเป็นแมลงที่ทําลายผลไม้หลายชนิด โดยจะวางไข่ที่ผลขณะแก่ ทําให้ หนอนที่ฟักเป็นตัว ทําลายเนื้อของผลเสียหาย เมื่ออยู่บนต้นหรือในขณะบ่มผล แมลงวันทองจะระบาดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ดินชื้น ตัวเต็มวัยจะขึ้นจากดินมาผสมพันธุ์กัน และวางไข่ได้หลายจุด ช่วงที่ทําความเสียหายให้กับ เกษตรกรมากที่สุดคือ ระยะที่เป็นตัวหนอน มักจะพบในมะละกอสุกทําให้ผู้บริโภคเสียความ รู้สึกในการรับประทาน
การป้องกัน แนวทางป้องกันคือ เก็บผลมีสีเหลืองที่ผิว 5% ของพื้นที่ผิวผล ไม่ปล่อยให้สุกคาต้น ร่วมกับการใช้มาลาไธออนฉีดพ่นทําลายตัวเต็มวัย และล่อตัวผู้ด้วย เมธิลยูจีนอล ผสมยาฆ่าแมลงพวกมาลาไธออน อัตรา 1:1 หรือห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือเก็บผลที่เน่าเสียเนื่องจากแมลงและโรคออกจากแปลงปลูกฝังดินลึกๆ หรือเผาไฟ
เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงดูดที่สําคัญชนิดหนึ่งในมะละกอ สันนิษฐานกันว่าเป็นตัวถ่ายทอดโรคใบด่างเหลืองที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งโรคนี้พบว่ากําลังเป็นกับมะละกอในแหล่งผลิต ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง
โรคพืชที่มักพบในมะละกอ
โรคใบด่าง
อาการที่เกิดกับต้นกล้ามะละกอจะแสดงอาการใบด่างผิดปกติ ใบมีขนาดเล็กลง สี ซีดต่อมาใบร่วงและทําให้ต้นตาย สําหรับต้นที่โตแล้ว จะแสดงอาการโดยใบยอดเหลืองซีด ใบมีขนาดเล็กลง ก้านใบ สั้นใบด่างสีเหลืองสลับเขียว ส่วนต้นหรือก้านใบจะพบจุดหรือขีดสีเข้ม มะละกอจะให้ผลผลิต น้อยหรือไม่ได้ผลผลิตเลย
สาเหตุเกิดจากเชื้อปาปายาริงสปอทไวรัส ถ้าพบว่าเป็นโรคต้องโค่นทิ้งและไม่นํา มีดที่มีเชื้อไปตัดต้นดีเพราะจะทําให้เชื้อแพร่กระจายไปได้และฉีดพ่นยาป้องกันเพลี้ยอ่อน หรือเพลี้ยอื่น ๆ บางชนิด เช่น เพลี้ยไก่ฟ้า ไม่ให้มาดูดกินนํ้าเลี้ยงจากต้นมะละกอที่ปกตินอกจากนี้อาจใช้พันธุ์ต้านทานปลูกก็ได้
โรคราแป้ง
ลักษณะอาการ อาการปรากฏบนใบและบนผลที่มีสีเขียว เกิดคราบฝุ่นของเชื้อราเป็นขุยสีขาวๆ คล้ายแป้งที่บนใบ ก้านใบและผล ใบอ่อนที่ถูกทําลายจะร่วงหรือใบเสียรูป ยอดชะงักการเจริญเติบโต ผลอ่อนมาก ๆ ถ้าเป็นโรคผลจะร่วง แต่ถ้าเป็นกับผลโตผลจะไม่ร่วงยังเจริญเติบโตได้ แต่ผิวจะกร้านและขรุขระไม่น่าดูส่วนที่ก้านนั้นมีสีเทาจาง ๆ แผลจะมีขอบเขตไม่แน่ นอน
สาเหตุของโรคและการแพร่ระบาด โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Oidium sp. โดยเชื้อราจะสร้างสปอร์ปลิวไปตามลม แพร่ระบาดไปได้ไกล ๆ โรคนี้มักจะเกิดในปลายฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว
การป้องกันกําจัด ควรพ่นด้วยสารป้องกันกําจัดโรครา เช่น เบโนมีล 10 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร หรือไดโนแคพ 20 กรัมต่อนํ้า 30 ลิตร
โรคโคนเน่า
ลักษณะอาการ อาการของโรคพบทั้งที่ราก และโคนลําต้น อาการเน่าที่โคนต้นจะเน่าบริเวณระดับดิน แผลจะลุกลามมากขึ้น และจะปรากฏอาการที่ใบทําให้ใบเหี่ยวและเหลือง ยืนต้นตาย หรือล้มได้ง่ายที่สุดเพราะเมื่อโคนลําต้นเน่า ก็หมายถึงภายในเนื้อเยื่อจะเน่าเละหมด ไม่มีส่วนแข็งแรงที่จะทรงตัวอยู่ได้
สาเหตุของโรคและการแพร่ระบาด โรคโคนเน่าเกิดจากเชื้อ Phytophthora plamivora พบเป็นมากในฤดูฝน เชื้อราเป็นพวกเชื้อราในดิน เมื่อมะละกอเจริญเติบโต เชื้อรานี้จะแพร่ระบาดได้รวดเร็ว เมื่อมีความชื้นสูงโดยสปอร์จะไหลไปกับนํ้าเข้าทําลายต้นอื่น
การป้องกันและกําจัด ถ้าหากมีนํ้าท่วมขังชื้นแฉะจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ได้ง่าย การจัดระบบปลูกให้มี การระบายนํ้าที่ดีจึงเป็นสิ่งจําเป็น ฉะนั้น เมื่อปรากฏอาการของโรคควรถอน ขุดทําลาย ถ้าตรวจพบว่าโรคนี้เริ่มเข้าทําลายก็ควรฉีดพ่นด้วยสารป้องกำจัดโรคพืช เช่น เมทาแลคซิล 20 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร, ฟอสอีธิลอลูมินั่ม 40 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร เป็นต้น
โรคแอนแทรคโนส
ลักษณะอาการ อาการที่ผลอ่อนจะเกิดจุดและเน่าเสียหาย ส่วนที่ผลแก่จะเกิดจุดแผลสีนํ้าตาลลุกลามเป็นวงกลม เมื่อผลใกล้สุกมีความหวานมากขึ้น และเนื้อเริ่มนิ่มอาการของโรคจะยิ่งลุก ลามรวดเร็วและเป็นรุนแรง ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัดคือแผลกลมนุ่ม และเป็นวงซ้อน ๆ กัน เป็นได้ทั้งบนต้นและในระหว่างบ่มตลอดจนในช่วงวางขายในตลาด
สาเหตุของโรคและการแพร่ระบาด เกิดจาก เชื้อรา Colletotrichum gloeosporieides (Glomerella cingulata) เชื้อรา ชนิดนี้ทําลายทั้งใบอ่อนและผล ความสําคัญและพบระบาดเสมออยู่ที่ผลสปอร์ของเชื้อราดังกล่าวจะแพร่ระบาดไปยังผลมะละกอในต้นเดียวกันและต้นอื่น ๆ ตลอดจนในภาชนะบรรจุ ผลมะละกอได้โดยง่าย โดยอาศัยอาการสัมผัสติดไปหรือลมเป็นพาหนะนําเชื้อโรคไป
การป้องกันและกําจัด ถ้าโรคระบาดในแปลงปลูกขั้นรุนแรงก็พ่นด้วยสารเคมี เช่น เบโนมิล 10 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร แมนโคเซป แคปแทน 48 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
มะละกอจะมีผลเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 7-8 เดือน และจะให้ผลแก่ทะยอยกันไปเรื่อย ๆ มะละกอมีอายุยืนยาวมากน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ยิ่งอายุมากตําแหน่งของผลจะอยู่สูงขึ้นไปมาก ทําให้ไม่สะดวกในการเก็บเกี่ยวผล การปลูกมะละกอในบางเขตจึงนิยม เก็บเกี่ยวผลจนอายุประมาณ 1 ปีครึ่ง – 2 ปี จึงปลูกใหม่ ปกติผลผลิตมะละกอจะได้ 3-4 ตัน ต่อไร่ ถ้าใช้ระยะปลูก 4 x 3 เมตร แต่ถ้าปลูกให้ถี่ขึ้นจะได้ผลผลิตสูงขึ้น มะละกอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ค่อยมีผลในฤดูแล้ง เนื่องจากการขาดนํ้าชลประทานทําให้ดอก และผลอ่อนมะละกอร่วง จึงมีความจําเป็นมากจะต้องปลูกในแหล่งที่มีนํ้าชลประทาน เพื่อให้ได้ ผลผลิตสูงและต่อเนื่องยาวนาน
การเก็บเกี่ยวผลให้ใช้มีดหรือกรรไกรตัดขั้วผลมะละกอให้ติดต้น แล้วตัดขั้วผลมะละกอที่ยาวออกภายหลัง ห้ามใช้มือบิดผลเพราะทําให้ขั้วชํ้า และเชื้อราสามารถจะเข้าทําลายทางขั้วที่ติดต้นทําให้ต้นเน่าเสียหายได้ เลือกเก็บเกี่ยวผลที่มีผิวสีส้มประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ผิวผลผลที่เก็บควรใส่ภาชนะหรือเข่งที่กรุกระดาษหลาย ๆ ชั้นหรือกล่อง กระดาษ ระวังไม่ให้ยางเปื้อนผิว ติดผลวางเข่งหรือกล่องไวในที่ร่มเคลื่อนย้ายไปที่คัดขนาด ด้วยความระมัดระวัง
สรุป : การปลูกมะละกอให้ได้ผลและมีคุณภาพได้ผลดี ต้องมีการดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเมื่อกล้ามะละกอยังเล็กจนกระทั่งถึงระยะเก็บเกี่ยวผลโดยยึดหลัก ดังนี้
- ต้นกล้าต้องสมบูรณ์แข็งแรง ไม่อยู่ในถุงนานเกินไป
- หลุมปลูกต้องมีการระบายนํ้าดีมีอาหารอุดมสมบูรณ์
- ให้นํ้าชลประทานอย่างสมํ่าเสมอไม่ให้ขาดนํ้าโดยเฉพาะช่วงติดผลและผลเจริญ
- มีการให้ปุ๋ยเพิ่ม และมีการป้องกันแมลงและโรคอย่างต่อเนื่อง
- มีการตรวจดูทําลายวัชพืชและพืชอาศัยของโรคแมลง ในบริเวณข้างเคียงไม่ให้รบกวน
- ในระยะที่ต้นมะละกอยังเล็ก ควรตรวจดูต้นโดยเฉพาะใบแก่ด้านบน และด้านล่างใบว่ามีไร เพลี้ยไฟ หรือโรคจุดเข้าทําลายหรือไม่
- ตรวจดูว่ามีต้นแคระแกร็น หรือต้นใบด่างยอดด่างหรือไม่ ถ้าพบต้นแคระแก็รนให้ถอนต้นตรวจดูราก ถ้าใบด่างให้ถอนและเผาไฟทําลายทิ้ง
- เก็บใบและต้นใบแห้ง ออกเผาไฟ
- นอกจากฉีดพ่นยาป้องกันกําจัดแมลงที่ต้นและใบแล้ว ให้ราดยาป้องกันกําจัดแมลงที่โคนต้นป้องกันมด และฆ่าเพลี้ยหอยมายังส่วนผลทุก 2 สัปดาห์ต่อครั้ง
- เก็บเกี่ยวผลที่ผิวเริ่มมีสีเหลืองประมาณ 5% ของพื้นที่ผิวผลมะละกอ
อ้างอิง : การปลูกมะละกอ ( คุณฉลองชัย แบบประเสริฐ ) , เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ ( วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2562 )
คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพกับมะละกอ
การใช้ดินเทพ
– ช่วงเตรียมดินก่อนปลูก : ดินเทพ 50 ซีซีผสมน้ำ 60 ลิตร ฉีดพ่นในพื้นที่ 1ไร่ หรือใช้บัวรดในหลุมปลูก 3-5 ลิตร/หลุม ก่อนปลูก
การใช้ไร่เทพ และโล่เขียว
– ระยะต้นกล้า(แตกใบอ่อน) : โล่เขียว 50-80 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 150 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะเจริญเติบโต : โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100-150 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะก่อนออกดอก : โล่เขียว 200 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต : โล่เขียว 200 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน