ดินในธรรมชาตินั้น กว่าซากพืชซากสัตว์จะสลายตัวได้หน้าดินซัก 1 เซนติเมตรนั้นใช้เวลานานหลายปี หน้าดินเหล่านั้นประกอบด้วยทั้งอินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้สมบูรณ์ แต่ทว่าความสมบูรณ์ของดินนั้นมันก็ค่อยๆหมดไป เพราะตั้งแต่ยุคปฏิวัติเกษตรกรรม มนุษย์เริ่มรู้จักการเพาะปลูกเป็นวงกกว้าง เราปลูกพืชและบริโภคพืชไว้เป็นอาหาร ธาตุบางอย่างในดินจึงเริ่มหมดไป ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพืชขาดธาตุอาหารบางอย่าง มันก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
ธาตุองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของพืชนั่นก็คือธาตุคาร์บอน ซึ่งมีที่มาจากกระบวนการสังเคราะห์แสงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนกลายเป็นแป้งน้ำตาล ลำต้นและองค์ประกอบอื่นๆของลำต้นพืช ทว่าในปัจจุบันมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น กระบวนการทางเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกเป็นภาวะโลกร้อน และทางเดียวที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ นั่นคือ ให้พืชดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากฟ้าลงสู่ดิน เราจำเป็นต้องปลูกพืชให้เยอะขึ้นแต่ปัญหาก็คือ “เราปลูกพืชได้ไม่ดี เนื่องจากดินไม่ดี” การปรับปรุงดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูกจึงเกิดขึ้นกระบวนการปรับปรุงดินที่สำคัญ คือการเพิ่มสารอินทรีย์ลงสู่ดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีตัวช่วยคือ “จุลินทรีย์” นั่นเอง
ปุ๋ยอินทรีย์จำแนกได้เป็น 4 ประเภท
1.ปุ๋ยพืชสด
ใช้ต้นพืชฝังกลบลงไปในดินโดยตรง โดยพืชบางชนิดมีแบคทีเรียบางตัวอยู่ในปมรากซึ่งสามารถช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศลงพื้นดินได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นไรโซเบียม ในพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
2. ปุ๋ยคอก
เกิดจากมูลสัตว์ที่ทับถมและย่อยสลาย ภายในระยะเวลาหนึ่ง เปรียบเสมือนกับสัตว์เป็นเครื่องบดทั้งเชิงกายภาพและเชิงเคมีทั้งยังมจุลินทรีย์ในระบบการย่อยอาหารของสัตว์เหล่านั้น ช่วยในการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์อีกด้วย
3. ปุ๋ยหมัก
เป็นการจำลองการย่อยอาหารของสัตว์ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายในปริมาณที่มากขึ้น มนุษย์นำซากพืชมาบดสับละเอียดโดยใช้เครื่องบด โรยจุลินทรีย์เข้าไป กลบและพลิก เพื่อให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการ จนกลายเป็นปุ๋ยในที่สุด
4. ปุ๋ยชีวภาพ
คือจุลินทรีย์ประเภทต่างๆ ในดิน เช่นจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน จุลินทรีย์กลุ่มปลดปล่อยฟอสเฟตเป็นต้น ทุกครั้งที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดิน พืชไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปใช้ได้ทั้งหมดจำเป็นต้องมีจุลินทรีย์เพื่อย่อยสลายธาตุบางอย่างให้อยู่ในรูปแบบที่พืชสามารถดูดซึมได้
องค์ประกอบของดินที่ดี
1. อากาศ 25%
ดิน ที่ดีควรมีสภาพร่วนซุยดังนั้นการพรวนดินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อทำให้ดินเกิดโพรงอากาศและพืชสามารถดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี
2. น้ำ 25%
นอกจากความร่วนซุยของดินแล้วดินที่ดีควรมีภาวะการอุ้มน้ำเพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของพืช
3. อนินทรีย์วัตถุ 45%
เกิดจากการย่อยสลายของหินกลายเป็นอนินทรีย์วัตถุขนาดเล็กลงหรือที่เราเรียกกันว่าเนื้อดินนั่นเอง
4. อินทรีย์วัตถุ 5%
แม้เป็นส่วนที่น้อยที่สุดแต่ว่าเป็นส่วนที่สำคัญเช่นกัน ในส่วนที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ทับถมกันเป็นเวลานานเราเรียกสิ่งนี้ว่าฮิวมัสนั่นเอง
ส่วนผสมการปรับปรุงดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูก
1. เนื้อดิน 5 ส่วน ควรเลือกดินที่มาจากแหล่งที่ดี ไม่มีสารตกค้าง พวกโลหะหนัก ฯลฯ
2. กาบมะพร้าวสับ 3 ส่วน
3. แกลบ เผา 1 ส่วน
4. ปุ๋ยชีวภาพ 1 ส่วน
คลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้เป็น 7 วันก็จะสามารถนำไปใช้ปลูกพืชได้
นอกจากนี้ เพื่อทำให้ดินมีอินทรียวัตถุและถูกปลดปล่อยธาตุอาหารอันจำเป็นต่อพืชมากขึ้น อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มกรดฮิวมิค (Humic acid) อันเป็นสารจากธรรมชาติ ที่มีส่วนช่วยให้พืชที่ได้รับมีระบบรากที่ดี มีส่วนช่วยในการแตกราก สร้างรากใหม่ ทำให้พืชสามารถดูดอาหารทางดินได้ดีขึ้น อีกทั้ง ฮิวมิค ยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของดิน เมื่อฉีดพ่นลงสู่ดินจะช่วยให้ดินสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย