ปลูกถั่วเหลือง ไรโซเบียมเอาอยู่!

      มีการวิจัยหนึ่ง จากนักวิชาการโรคพืช งานจุลินทรีย์ดิน กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 (เกือบ 50 ปีมาแล้ว) ที่จังหวัด ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งผลการทดลองนั้นปรากฏว่า การใส่เชื้อไรโซเบียมให้กับถั่วเหลืองอย่างเดียวสามารถทำให้ผลผลิตสูงเท่าๆกัน กับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียว และการใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันก็ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นของผลผลิตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ในบางพื้นที่ การใช้ไรโซเบียมอย่างเดียวนั้นกลับได้ผลผลิตเยอะกว่าอีกด้วย!

ใครอยากอ่านงานวิจัยอายุ 50 ปีนี้ ตามกันไปได้ที่ : การเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองโดยการใช้เชื้อไรโซเบียมและปุ๋ยไนโตรเจน นอกจากนี้ยังมีบทความเรื่อง การปลูกถั่วเหลือฝักสดหรือถั่วแระญี่ปุ่น ให้ไปศึกษากันเพิ่มอีกด้วย

บทความนี้ ฤทธิรอนขอนำเสนอ การเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงดินด้วยจุลินทรีย์ไรโซเบียมกันครับ

ไรโซเบียม คืออะไรและทำหน้าที่อะไร

ไรโซเบียมเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่าจุลินทรีย์ในดิน มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนลงสู่พื้นดินและเข้าไปอยู่ร่วมกับพืชตระกูลถั่วบริเวณรากของมัน จึงมักถูกเรียกว่า “จุลินทรีย์ปมรากถั่ว”

ขอบคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตร

การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่สูงเกินไปนั้น อาจทำให้เกิดการสูญเสียไนโตรเจนอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเกิดจากการชะล้างของฝน หรือ การเปลี่ยนกลายเป็นก๊าซไนโตรเจน ลอยกลับสู่อากาศ 

นอกจากนี้ แท้จริงแล้วไรโซเบียมไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไนโตรเจนและมันก็ยังคงสร้างปมรากได้ดีแม้ดินนั้นจะไม่ค่อยมีไนโตรเจนมากนัก แต่ที่สำคัญ คือมันทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการส่วนตัวของพืชตระกูลถั่ว ทันทีที่ถั่วต้องการไนโตรเจน เช่น ระยะเริ่มติดฝัก ไรโซเบียมก็จะจัดการตรึงไนโตรเจนส่งไปยังเมล็ดโดยตรงทันที! ซึ่งต่างจากไนโตรเจนที่ได้จากปุ๋ย มันจะถูกส่งไป”เปลี่ยนรูปแบบ” ที่ใบก่อน แล้วจึงค่อยส่งมาที่เมล็ด ดังนั้น เมื่อถั่วเหลืองมีปมอยู่ที่ราก ไรโซเบียมก็จะทำหน้าที่ของมัน ทำให้เมล็ดสมบูรณ์และผลผลิตสูง (นักวิจัยยังบอกว่า การใส่ปุ๋ยในช่วงแรก จะทำให้พืชเขียวจริง แต่ก็ไม่ได้การรันตีในเรื่องของผลผลิต)

ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น จึงไม่แนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนกับการปลูกถั่ว แต่แนะนำให้ใช้เชื้อไรโซเบียมแทน