แตงโมเป็นผักตระกูลแตงที่คนไทยเรารู้จักบริโภคกันมานานแล้ว นอกจากนิยมใช้ผลรับประทานแล้ว ส่วนของผลอ่อนยอดอ่อน ยังใช้ในการปรุงอาหารได้หลายชนิด แตงโมเป็นพืชที่ปลูกง่ายสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทุกฤดูกาลตลอดปีแตงโมปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ปลูกได้ดีในสภาพดินร่วนปนทราย ซึ่งมีสภาพความเป็นกรด – เป็นด่าง ประมาณ 5.0 – 7.5 มีการระบายนํ้าได้ดี แตงโมเป็นพืชที่เกษตรกรให้ความนิยมปลูก เนื่องจากใช้เวลาปลูกสั้นเพียง 60-65 วัน และพันธุ์หนัก 70-85 วัน ปลูกหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี จึงสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกแตงโมทั่วประเทศมีประมาณ 54,677 ไร่ สามารถสร้างผลผลิตมากถึง 145,000 ตัน
ฤดูปลูก : เนื่องจากแตงโมจะขาดตลาดและมีราคาสูงในตอนกลางและปลายฤดูฝน เพราะว่าในช่วงดังกล่าวจะปลูกแตงโมได้ยากลําบาก เนื่องจากต้นแตงโมไม่ชอบฝนชุก จะตายด้วยโรคเถาเหี่ยวเป็นส่วนใหญ่และเกิดโรคทางใบมาก ผลแตงโมจะเน่าง่ายอีกทั้งรสชาติจะไม่หวานจัด เหมือนแตงโมที่ปลูกในฤดูแล้งหรือในฤดูหนาว ฉะนั้นจึงควรเริ่มปลูกแตงโมตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมีนาคม และเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้ายในเดือนมิถุนายน ซึ่งยังเป็นต้นฤดูฝนอยู่และมีผู้ต้องการบริโภคแตงโมกันมาก
พันธุ์แตงโมที่นิยมปลูก : ในปัจจุบันมีเกษตรกรนิยมปลูกแตงโมพันธุ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
-แตงโมพันธุ์จินตหรา มีลักษณะผิวลายสีขาว ผลโต เนื้อละเอียด กรอบ เปลือกอ่อน ผลกลม มีน้ำหนัก 4-6 กิโลกรัม
-แตงโมพันธุ์กินรี มีลักษณะลายสีดำ แถบดำ ผลโตเนื้อละเอียด กรอบ เปลือกอ่อน ผลทรงกลม มีน้ำหนัก 4-6 กิโลกรัม
-แตงโมพันธุ์ตอปิโด ลักษณะเปลือกเป็นสีเขียวเข้มมีลายเส้นสีดำ เนื้อสีแดงลำต้นแข็งแรง ติดผลง่ายผล ทรงยาวรี น้ำหนักผล 4-6 กิโลกรัม
-แตงโมพันธุ์ซอนญ่า สีเขียวอ่อนสลับแถบสีเขียวเข้ม ต้นแข็งแรง ทรงกลมรี เนื้อสีแดงสวย กรอบ ติดผลดี
การเตรียมดิน : แตงโมเป็นพืชที่หยั่งรากลึกมากกว่า 120 เซนติเมตร และต้องการดินที่อุดมสมบูรณ์มีความชุ่มชื้นมากพอ ฉะนั้นถ้ามีการไถพรวนหรือขุดย่อยดินให้มีหน้าดินร่วนโปร่งและลึกก็จะช่วยป้องกันการขาดนํ้าได้เป็นอย่างดี ในระยะที่ต้นแตงโมกําลังเจริญเติบโต การเตรียมดินให้หน้าดินลึกร่วนโปร่ง จะช่วยทําให้ดินนั้นยึดและอุ้มความชื้นได้มากขึ้น และเป็นทางเปิดให้รากแตงโมแทรกตัวเองลึกลงไปใต้ดิน ซึ่งจะช่วยให้รากหาอาหารและนํ้าได้กว้างไกลยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยทําให้พืชสามารถใช้นํ้าใต้ดินมาเป็นประโยชน์ได้อย่างดีอีกด้วย ถ้าจําเป็นต้องปลูกแตงโมในหน้าฝนควรเลือกปลูกในดินที่มีการระบายนํ้าดี คือเป็นดินเบา หรือดินทราย แต่ถ้ามีที่ปลูกเป็นดินหนัก หรือค่อนข้างหนัก ควรปลูกแตงโมในหน้าแล้ง และขุดดินหรือไถดินให้ลึกมากที่สุดจะเหมาะกว่า
การเตรียมวัสดุเพาะกล้า
ในปัจจุบันเพื่อความสะดวกสบาย ได้มีการใช้ถาดเพาะกล้าหรือถาดหลุมที่มีจำนวนหลุมทั้งหมด 104 หลุม มาใช้เพาะกล้าโดยวัสดุปลูกที่ใช้จะเป็นดินเพาะกล้าที่สั่งมาจากต่างประเทศที่เรียกกันว่า “ มีเดีย , พีทมอส ” แต่เป็นวัสดุปลูกที่มีราคาค่อนข้างสูง มีราคาแพง ทำให้เกษตรกรมีการประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุน แล้วสามารถใช้ได้ผลดีเช่นกันที่เรียกกันว่า “การผสมดิน” เพื่อลดต้นทุนเรื่องของวัสดุเพาะกล้า โดยสูตรดินผสมจะมีส่วนผสม ดังนี้ ดินมีเดีย 1 กระสอบ (25 กิโลกรัม) : ขุยมะพร้าวปั่นฝอย 50 กิโลกรัม : ดินหมักใบก้ามปู 25 กิโลกรัม จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ ประมาณ 4-5 เท่า ของวัสดุปลูก โดยที่ ดินผสม 1 ชุด สามารถใช้ได้เกือบ 70-80 ถาดเพาะเลยทีเดียว ** สําหรับผู้ที่เพาะเมล็ดแตงโมในฤดูหนาว มักจะพบว่าแตงโมงอกช้า หรือไม่งอกเลย ทั้งนี้เพราะว่าถ้าอุณหภูมิในดินปลูกตํ่ากว่า 15.5 องศาเซลเซียส เมล็ดแตงโมจะไม่งอกโดยธรรมชาติฉะนั้นเพื่อ ขจัดปัญหาเมล็ดไม่งอกในฤดูหนาว ควรทําการหุ้มเมล็ดโดยแช่เมล็ดแตงโมในนํ้าอุ่น ๆ ในบ้านจะช่วยทําให้เมล็ดแตงโมงอกได้เร็วขึ้น และงอกได้อย่างสมํ่าเสมอ
การย้ายกล้าแตงโมลงแปลงปลูก
หลังจากนำเมล็ดพันธุ์ลงถาดหลุมได้สัก 10-15 วัน ก็จะสามารถย้ายปลูกลงแปลงได้ โดยสังเกตจากต้นกล้าที่พร้อมจะต้องแตกยอดและออกใบจริงอย่างน้อย 2 ใบ โดยก่อนการขนย้ายถาดหลุมต้นกล้าแตงโมไปปลูกในแปลง ควรมีการงดการรดน้ำเสียก่อน ให้วัสดุปลูกแข็งเป็นก้อนเล็กน้อยเพื่อให้สะดวกตอนขนย้าย และง่ายต่อการดึงต้นกล้าออกจากถาดหลุมได้โดยง่ายถ้าเรารดน้ำให้กล้าแตงโมก่อนการย้ายปลูก เมื่อถอดออกจากหลุมจะทำให้ดินวัสดุปลูกแตกออกจากรากแตงโม ยกตัวอย่างว่า จะย้ายกล้าแตงโมปลูกในช่วงเย็นควรงดน้ำในช่วงบ่าย รดแค่ตอนเช้าครั้งเดียวก็เพียงพอ แต่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการสังเกตวัสดุปลูกของเกษตรกรอีกทีว่าควรจะงดน้ำช่วงเวลาใด โดยมีวิธีการปลูก เราก็ย้ายลงแปลงปลูกโดยให้ระยะระหว่างต้น 50-70 เซนติเมตร (ระยะขึ้นอยู่กับฤดูปลูก และวิธีการเด็ดยอด) โดยก่อนปลูกต้องขึ้นน้ำในร่องให้ชุ่มเสียก่อน วิธีการปลูกใช้ไม้กระทุ้งหลุมให้ลึก ประมาณ 7-10 เซนติเมตร ให้รองก้นหลุมด้วยสาร ไดโนทีฟูแรน (dinotefuran) 20% SG หลุมละ 1 กรัม เพื่อป้องกันแมลงทำลายของแมลงกินใบและแมลงปากดูดต่าง ๆ ในช่วงแรกของการปลูกแตงโม ปลูกแล้วต้องรดน้ำตามทันทีเพื่อเพิ่มอัตราการรอดของกล้าแตงโม ( การรดน้ำตามคือใช้สายยางหรือบัวรดน้ำตามคนปลูกเลยทันที เพื่อลดความร้อนของดินปลูก ทำให้ดินเกาะกระชับรากแตงโมได้ดี )
การดูแลรักษา :
เมื่อย้ายกล้าลงแปลงแล้วต้องรดนํ้าให้ชุ่ม โดยคัดเลือกเอาแต่ต้นแข็งแรงไว้แต่ถ้าปลูกให้ต้นห่างกัน 90 เซนติเมตร และแถวห่างกัน 3-4 เมตร แล้วปลูกหลุมละ 3 ต้น รวมแล้วในเนื้อที่ 1 ไร่จะมีต้นแตงโมอยู่ประมาณ 1,700 ต้น
การให้ปุ๋ยแตงโม : ควรใส่ปุ๋ยคอกการใส่ปุ๋ยคอกให้แก่แตงโมก็มีความสําคัญมาก เพราะปุ๋ยคอกช่วยทําให้ดินร่วนโปร่ง ช่วยทําให้ดินมีธาตุอาหารมากขึ้นแล้วยังช่วยทําให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อยู่ในสภาวะสมดุล เป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้นด้วย ควรใส่ปุ๋ยคอกในพื้นที่ปลูกจริงอัตราไร่ละ 2-4 ตัน ปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี ควรใช้ปุ๋ยเคมีอัตราส่วน 1:1:2 ซึ่งได้แก่ปุ๋ยเคมีสูตร 10-10-20 เป็นต้น หรือใช้ปุ๋ยสูตรใกล้เคียงได้เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ในอัตราไร่ละ 100-150 กิโลกรัม จะตัดสินใจใส่ปุ๋ยมาก หรือน้อยก็ต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของดิน และราคาแตงโมประกอบด้วย ปกติแล้วจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ประมาณ 120-150 กก./ไร่ ต่อรอบฤดูปลูก วิธีการใส่ปุ๋ยให้กับต้นแตงโม ผู้ปลูกแตงโมส่วนใหญ่ยังนิยมใส่ปุ๋ยเคมีลงบนผิวดินโดยหว่าน หรือวางเป็นกระจุกหน้าดิน แล้วรดนํ้าเพื่อให้ปุ๋ยละลายนํ้าลงไปสู่รากแตงโม การใส่ปุ๋ยวิธีดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่จะทําให้เปลืองปุ๋ยมาก รากพืชจะได้รับธาตุไนโตรเจนกับโพแทสเซียมจากปุ๋ยเคมีเท่านั้น แต่จะไม่ได้รับธาตุฟอสฟอรัสจากปุ๋ยเคมีนั้นเลย หรือได้รับก็ได้รับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตามปกติธาตุฟอสฟอรัสจะไม่เคลื่อนย้ายจากผิวหน้าดินลงไปสู่รากแตงโมแต่อย่างใด ซึ่งธาตุฟอสฟอรัสนั้นก็เป็นธาตุที่จําเป็นต่อการเจริญเติบโตของแตงโมมากพอสมควรทีเดียว ฉะนั้นการใส่ปุ๋ยเคมีจึงควรใส่ไว้ใต้ดินเป็นกลุ่ม ๆ เช่นใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือใส่ไว้ใต้ผิวดินห่างจากโคนต้นแตงโมสัก 1 ฟุต ใส่เป็นกลุ่มแตงโมจะได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่ ปุ๋ยที่ใส่เสริมหลังปลูก ต้องคํานึงถึงอยู่เสมอว่ารากแตงโมส่วนใหญ่ เดินตามแนวนอนขนานกับผิวดินและเถาของแตงโม ฉะนั้นการใส่ปุ๋ยหลังปลูกควรใส่ที่ปลายราก และต้องไม่ใส่มากจนปุ๋ยเข้มข้นเกินไป และต้องให้ปุ๋ยอยู่ในรูปที่ค่อย ๆ ละลายนํ้าเพื่อให้รากดูดซับเอาไปใช้ได้พอดี
– ระยะแตงโมต้นเล็ก (อายุ 7-15 วัน หลังย้ายปลูก) แนะนำใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 อัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ (ใส่ทางดินรองพื้นก้นหลุม) และใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพตามอัตราส่วนและปริมาณแนะนำ ทุก 7-10 วัน
– ระยะทอดยอด (อายุ 15-20 วัน) แนะนำใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 1 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-9-20 อัตรา 4 กิโลกรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร/ไร่ ประยุกต์ให้ผ่านระบบน้ำหยด โดยให้ปุ๋ยวันเว้นวัน จำนวน 3 ครั้ง และใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพตามอัตราส่วนและปริมาณแนะนำ ทุก 7-10 วัน
– ระยะติดดอก-ผลเล็ก (อายุ 25-30 วัน) แนะนำใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 อัตรา 4-5 กิโลกรัม ต่อนํ้า 100 ลิตร/ไร่ ประยุกต์ให้ทางระบบน้ำหยด โดยให้ปุ๋ยวันเว้นวัน จำนวน 3 ครั้ง และใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพตามอัตราส่วนและปริมาณแนะนำ ทุก 7-10 วัน
– ระยะขยายผล สร้างเนื้อ เข้าสี (อายุ 35-55 วัน) แนะนำใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-24 อัตรา 4-5 กิโลกรัม ต่อนํ้า 100 ลิตร/ไร่ ประยุกต์ให้ทางระบบน้ำหยด ให้ปุ๋ยวันเว้นวัน ต่อเนื่อง 11 ครั้ง และใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพตามอัตราส่วนและปริมาณแนะนำ ทุก 7-10 วัน ช่วยบำรุงขยายผล สร้างเนื้อ เพิ่มน้ำหนัก ให้แตงโมลูกใหญ่ และเพิ่มรสชาติความหวานอร่อย
การให้นํ้าและการดูแลรักษาแปลง
ตามธรรมชาติต้นแตงโมต้องการผิวดินชุ่มชื้น แต่ไม่ถึงกับแฉะโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ผลแตงโมกําลังเจริญเติบโตเป็นตอนที่ต้นแตงโมต้องการนํ้ามาก การให้ความชุ่มชื้นแก่ดินในแปลง ควรให้ทั้งแปลงเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินแห้งแข็งและจับปึกซึ่งจะทําให้ดินขาดอากาศออกซิเจน ถ้าดินขาดอากาศเมื่อใดรากแตงโมจะได้รับนํ้า และธาตุอาหารอยู่ในขอบเขตที่จํากัดไปด้วย ดินที่ขาดนํ้าแล้วแห้งแข็งทําให้ขาดอากาศไปด้วยนั้นคือดินเหนียว และดินที่ค่อนข้างหนัก ส่วนดินทรายและดินร่วนทราย รากแตงโม จะไม่ขาดอากาศแม้ว่าจะขาดนํ้าก็ตาม ดินร่วนทรายและดินทรายสามารถไถพรวนให้หน้าดินลึกมาก ๆ ได้เพื่อให้สามารถยึดจับความชื้นที่เราให้ไว้ได้มากขึ้น ส่วนดินเหนียวนั้นไม่สามารถไถพรวนให้ลึกเท่าดินทราย หรือดินร่วนทรายได้เพราะเนื้อดินทั้งเหนียว และแน่นอุ้มนํ้าไว้ในตัวได้มากกว่าดินทราย แต่ก็คายนํ้าออกจากผิวดินได้ไวมากและดูดซับความชื้นได้ตื้นกว่าดินทรายหรือดินร่วนทราย จึงทําให้ต้องให้นํ้ากับต้นแตงโมที่ปลูกในดินเหนียวมากกว่าคือต้องให้นํ้าอย่างน้อย 5 วันครั้ง หรือรดนํ้าทุกวันๆ ละ ครั้ง
การคลุมแปลงด้วยฟาง หรือใช้พลาสติก
เมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง เราควรจะปิดคลุมหน้าดินด้วยฟาง การคลุมดินด้วยฟางจะมีผล ดังนี้คือ
1) ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้คงอยู่ได้นาน ทําให้รากแตงโมดูดซับธาตุอาหารในดินได้ติดต่อกันโดยไม่ขาดตอน
2) ทําให้ต้นแตงโมเป็นโรคทางใบน้อยลง เพราะต้นและเถาเลื้อยอยู่บนฟางไม่ได้สัมผัสกับดิน
3) ป้องกันไม่ให้หน้าดินร้อนจัดเกินไป
4) เป็นการรองผลทําให้สีของผลสมํ่าเสมอ
5) ควบคุมไม่ให้หญ้าขึ้นและเจริญเติบโตมาแข่งกับแตงโม เพราะแตงโมแพ้หญ้ามากเนื่องจากหญ้าส่วนใหญ่มีใบปรกดิน เถาแตงโมนั้นทอดนอนไปกับผิวดิน หากหญ้าขึ้นคลุมแตงโมเมื่อใด หญ้าจะบังใบแตงโมไม่ให้ถูกแดดทําให้ใบแตงโมสังเคราะห์แสงปรุงอาหารไม่ได้เต็มที่ และจะอ่อนแอลงทันทีในที่สุดจะตายหมดภายในเวลา 2-3 สัปดาห์เท่านั้น
การจัดเถาแตงโม
: ถ้าปล่อยให้เถาแตงโมเลื้อยและแตกแขนงไปตามธรรมชาติ เถาแตงของแต่ละต้นก็จะเลื้อยทับ กัน และซ้อนกันจนหนาแน่นทําให้ผลผลิตลดน้อยลง สืบเนื่องมาจากแมลงช่วยผสมเกสรได้ไม่ทั่วถึง เพราะไม่อาจแทรกหาดอกได้ทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตไปจนมีความยาว 1-2 ฟุต ควรได้มีการจัดเถาให้เลื้อยไปในทางเดียวกันและตัดเถาให้เหลือไว้ต้นละ 4 เถา เถาที่เป็นเหล่านั้นออกให้คงเหลือไว้ต้นละ 4 เถา ซึ่งเป็นเถาที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ตามเดิม
การช่วยผสมเกสรด้วยมือ(การต่อดอก)
ผู้ปลูกแตงโมมักประสบปัญหาแตงโมไม่ติดผลเนื่องจากไม่มีแมลงช่วยผสม เพราะใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นต้นแตงโมมากไปและไม่เลือกเวลาฉีด ทําให้แมลงที่ช่วยผสมเกสรเช่น ผึ้ง ถูกสารฆ่าแมลง ตายหมด จึงเกิดปัญหาไม่มีผึ้งช่วยผสมเกสรจึงต้องใช้คนผสมแทน เราสามารถผสมพันธุ์แตงโมได้ตั้ง แต่เวลา 06.00 น. ถึง 10.00 น. หลังจากเวลา 10.00 น.ไปแล้วดอกตัวเมีย จะหุบและไม่ยอมรับการ ผสมเกสรอีกต่อไป การผสมด้วยมือทําได้โดยเด็ดดอกตัวผู้ที่บานมาปลิดกลีบดอกสีเหลืองของดอกตัวผู้ออกเสียก่อน จะเหลือแต่อับเรณูซึ่งมีละอองเกสรตัวผู้เกาะอยู่ทั่วไป จากนั้นจึงควํ่าดอกตัวผู้ลงบนดอกตัวเมียให้อับเรณูของดอกตัวผู้แตะสัมผัสกับเกสรตัวเมียโดยรอบ ให้ละอองเกสรตัวผู้สีเหลืองจับอยู่บน เกสรตัวเมียทั่วกันทั้งดอก ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการผสมซึ่งวิธีนี้ชาวบ้านเรียกว่า “การต่อดอก”
การปลิดผลทิ้ง
: แตงโมผลแรกที่เกิดจากเถาหลักส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และคุณภาพตํ่าเราควรปลิดทิ้งตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ และแตงที่มีลักษณะผลบิดเบี้ยวก็ควรปลิดทิ้งด้วย ขนาดที่ปลิดทิ้งไม่ควรปล่อยให้โตเกินลูกปิงปอง หรือผลฝรั่ง แตงที่ปลิดทิ้งนี้สามารถขายเป็นผลแตงอ่อนได้ และตลาดยังนิยมอีกด้วยควรเลี้ยงต้นแตงโมไว้เถาละลูกจะดีที่สุด เถาแตงโมเถาหนึ่ง ๆ อาจติดเป็นผลได้หลายผลให้เลือกผลที่มีก้านขั้วผลขนาดใหญ่ และรูปทรงผลได้รูปสมํ่าเสมอทั้งผลไว้ซึ่งจะทําให้ผลแตงโมมีขนาดใหญ่และมีคุณภาพสูงเพราะ ขนาดก้านขั้วผลมีความสัมพันธ์กับขนาดของผล ถ้าก้านขั้วผลใหญ่ ผลก็จะใหญ่ ถ้าก้านขั้ว ผลเล็กก็จะเล็ก
การดูแลแตงโมภายหลังผสมติดเป็นผลแล้ว
: ดอกตัวเมียของแตงโมที่ได้รับการผสมเกสรอย่างสมบูรณ์ ก็จะเจริญเติบโตอย่างสมํ่าเสมอติดต่อกันไปวันต่อวัน เมื่อผลแตงโมมีขนาดเท่ากับกะลามะพร้าว ควรเอาฟางรองใต้ผลเพื่อไม่ให้ผิวผลสัมผัสกับดินโดยตรง และกลับด้านที่ไม่โดนแสงขึ้น เพื่อให้ผลแตงมีสีสมํ่าเสมอทั่วทั้งผล จะทําให้แตงโมมีรสหวานมากขึ้นอีก
การเก็บผลแตงโม
แตงโมเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ผลแก่แล้วไม่แสดงอาการว่าสุกงอมให้เห็นเหมือนผลมะเขือเทศ หรือ พริกซึ่งจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดง หรือไม่เหมือนกับผลมะม่วง ซึ่งทั้งเปลี่ยนสีแล้วยังมีกลิ่นหอมด้วย ฉะนั้นการดูว่าแตงโมแก่เก็บได้หรือยังจึงต้องพิถีพิถันมากกว่าปกติอีกเล็กน้อย คือ
1) คาดคะเนการแก่ของผลแตงโมด้วยการนับอายุซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ของแตงโม และอุณหภูมิ ของอากาศ
1.1 แตงโมพันธุ์เบา จะแก่เก็บผลผลิตได้ภายหลังดอกบาน ประมาณ 35-42 วัน
1.2 แตงโมพันธุ์หนัก จะแก่เก็บผลผลิตได้ภายหลังดอก บานประมาณ 42-45 วัน
2) คาดคะเนการแก่ของผล ด้วยการดูลักษณะที่พบได้ทั่วไปเมื่อแตงโมแก่
2.1 มือเกาะที่อยู่ใกล้กับขั้วของผลมากที่สุด เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้งเป็นบางส่วนจากปลายมาหาโคน
2.2 วัดความแก่อ่อนของผลแตงโมได้จากการดีดฟังเสียง หรือตบผลเบาๆ ฟังเสียงดูถ้ามีเสียง ผสมกันระหว่างเสียงกังวานและเสียงทึบแตงจะแก่พอดี (แก่75%) มีเนื้อเป็นทรายถ้าดีดแล้วเป็นเสียง กังวานใส แสดงว่าแตงยังอ่อนอยู่ ถ้าดีดแล้วเสียงทึบเหมือนมีลมอยู่ข้างใน แตงจะแก่จัดเกินไปที่ชาว บ้านเรียกว่า “ไส้ล่ม” (แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับผลแตงที่เป็นโรคเถาตาย) ควรเก็บผลตอนบ่ายไม่ควรเก็บผล ตอนเช้าเพราะจะทําให้ผลแตงแตกได้
2.3 สังเกตนวลของผล ถ้าจางลงกว่าปกติแสดงว่าแตงเริ่มแก่พร้อมที่จะเก็บผลผลิตได้แล้ว
โรคพืชที่สําคัญในแตงโม 1. โรคเถาเหี่ยว (ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม Fusarium spp.)
แตงโมที่เป็นโรคนี้สีใบจะซีด ใบและเถาจะเหี่ยวจริงบริเวณโคนเถาที่ใกล้กับดิน จะแตกตามยาวและมีนํ้าเมือกซึมออกมา เมื่อผ่าดูภายในจะเห็นไส้กลางเป็นสีนํ้าตาล โรคนี้จะระบาดมากในช่วงแตงโมออกดอก และการปลูกซํ้าที่เดิมโรคนี้จะระบาดรุนแรงมาก สาเหตุที่เกิดโรคนี้มาจาก
- เชื้อรานี้เจริญและทําลายแตงโมได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 24-28 องศาเซลเซียส
- ขณะแตงกําลังเจริญเติบโตมีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน
- ดินมีธาตุไนโตรเจนอยู่สูง แต่มีธาตุฟอสฟอรัส (P2O5) และโพแทสเซียม (K2O) อยู่ตํ่า
4.ดินเป็นกรดจัด
การป้องกัน 1) ไม่ปลูกแตงโมซํ้าในที่แปลงเดิม และคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วย สารเมทาแลคซิล หรือสารไดเทนเอ็ม-45 อัตรา 15 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ก่อนนําไปปลูก
2) ใช้ปูนขาวโรยลงไปในดินเพื่อแก้ความเป็นกรดของดิน ในอัตราไร่ละ 100 กิโลกรัม
3) ใช้สารเมทาแลคซิล หรือสารไดเทน ตามอัตราแนะนำของผู้ผลิต ฉีดพ่นที่ต้นพืชจะช่วยทําให้เชื้อโรคชะงักลง
4) สารเคมีกลุ่มพีซีเอ็นบีเช่น เทอราคลอร์ในอัตรา 60 ซีซี. ผสมนํ้า 20 ลิตร ราดลงในหลุมแตงโมที่เกิดโรค และบริเวณข้างเคียงทุก 7 วัน
- โรคเถาเหี่ยว (ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacterial wilt) ลักษณะที่มองเห็นในครั้งแรก คือ ใบในเถาจะเหี่ยวลงทีละใบ การเหี่ยวจะเหี่ยวจากปลายเถามาหาโคนเถาหนึ่ง เมื่อเหี่ยวมาถึงโคนเถาก็จะเหี่ยวพร้อมกันหมดทั้งต้น แต่ใบยังคงเขียวอยู่และพืชตายในทันทีที่พืชเหี่ยวทั้งต้น สาเหตุของการเหี่ยวก็คือเชื้อแบคทีเรียไปอุดท่อส่งนํ้าเลี้ยงในต้นแตงโม ถ้าเอามีดเฉือนเถาตามยาวดูจะเห็นว่ากลางลําต้นในเถาฉํ่านํ้ามากกว่าปกติ เชื้อแบคทีเรียนี้อาศัยอยู่ในตัวของแมลงเต่าแตง ต้นแตงโมได้รับเชื้อโรคจากการกัดกินใบ ของแมลงเต่าแตงนี้เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ต้นแตงโมทางแผลที่แมลงเต่ากัดกิน ก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็กระจายตัวเข้าสู่ท่อนํ้าและอาหารของแตงโม เราอาจป้องกันและรักษาได้โดยฉีด สารเคมีเซฟวิน 85 (คาร์บาริล85%) ป้องกันแมลงเต่าแตง และใช้ยาปฏิชีวนะ สเตรปโตมัยซิน เช่น อะกริมัยซิน ฉีดพ่นทุกสัปดาห์ ใช้อัตราส่วนผสมตามที่แจ้งไว้ในซองบรรจุสารเคมีที่จําหน่าย เมื่อพบว่าต้นแตงโมบางส่วนเริ่มเป็นโรคนี้สารเคมีนี้ช่วยรักษาและป้องกันได้ แต่มีข้อเสียคือเสื่อมคุณภาพเร็ว จึงต้องซื้อแต่สารเคมีใหม่ใช้เท่านั้น ถ้าสารเคมีอะกริมัยซินเก่าเกิน 1 ปีขึ้นไป จะฉีดไม่ได้ผล
- โรครานํ้าค้าง (Downy mildew) ลักษณะที่มองเห็นได้คือเกิดจุดสีเหลืองบนหลังใบและขยายตัวใหญ่ขึ้น จํานวนจุดสีเหลืองเพิ่มปริมาณมากขึ้น และใต้ใบตรงตําแหน่งเดียวกันจะมีกลุ่มของเชื้อราสีม่วงอมเทา เกาะกลุ่มอยู่ เชื้อโรคนี้เจริญได้อย่างรวดเร็วเมื่ออากาศอุ่นและชุ่มชื้น เมื่อใบแก่ตายเชื้อก็จะไปทําลายใบอ่อนต่อไป เมื่อใบแห้งไปหมดแล้ว ผลที่เกิดขึ้นมาก็คือ แตงติดผลน้อยคุณภาพผลแก่ก็ตํ่าด้วย สปอร์ของเชื้อรานี้แพร่ระบาดไปโดยลมและโดยแมลงพวกเต่าแตง สารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นได้ผลดีคือ ไดเมโทมอร์ฟ, แคปเทน, ไซเน็บ, มาแน็บ ชนิดใดชนิดหนึ่งอัตราผสมใช้ 1 กรัม ผสมนํ้า 500 ซีซี. (หรือครึ่งลิตร) หรือ 35-40 กรัม ผสมนํ้า 20 ลิตร (1 ปิ๊บ)หรือตามอัตราที่ผู้ผลิตแนะนำข้างฉลาก
แมลงศัตรูพืชที่สําคัญในแตงโม
- เพลี้ยไฟ เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีตัวขนาดเล็กมากตัวอ่อนจะมีสีแสด ตัวแก่จะเป็นสีดํามีขนาดเท่าปลายเข็ม จะดูดนํ้าเลี้ยงที่ยอดอ่อนของแตงโม และใต้ใบอ่อนของแตงโม มีผลทําให้ใบแตงโมไม่ขยาย ยอดหดสั้นลง ปล้องถี่ ยอดชูตั้งขึ้น ชาวบ้านเรียก โรคนี้ว่า “โรคยอดตั้ง” บางแห่งก็เรียก “โรคไอ้โต้ง” เพลี้ยไฟจะบินไปเป็นฝูง มีลักษณะเล็กละเอียด คล้ายฝุ่น สภาพฤดูแล้งความชื้นในอากาศตํ่าลมจะช่วยพัดพาเพลี้ยไฟให้เคลื่อนที่เข้าทําลายพืชผลในไร่ได้รวดเร็วขึ้น ในพืชผักที่ปลูกด้วยกันเช่น ฟักทอง แตงโม แฟง ฟัก ในไร่ของเกษตรกรถูกเพลี้ยไฟทําลายเสียหายหนัก มีมะระพืชเดียวที่สามารถต้านทานเพลี้ยไฟได้ และเมื่อสวนใดสวนหนึ่งฉีดพ่นยาเพลี้ยไฟจะหนีเข้ามายังสวนข้างเคียงที่ไม่ได้ฉีดสารเคมี การป้องกันและกําจัดใช้สารเคมีหลาย ชนิด เช่น ฟิโพรนิล ไรเนต เมซูโรล หรืออิมิดาโคลพริด และอาจปลูกพืชเป็นกันชน เช่น ปลูกมะระจีนล้อมที่ไว้สัก 2 ชั้น แล้วภายในจึงปลูกแตงโม เพราะมะระขึ้นค้างจะช่วยปะทะการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟให้ลดลงได้ และมะระที่โดนเพลี้ยไฟเข้าทําลายจะต้านทานได้และเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
- เต่าแตง เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ที่ชอบกัดกินใบแตงขณะยังอ่อนอยู่ ลักษณะตัวยาว ประมาณ 1 เซนติเมตร ปีกสีเหลืองปนส้ม จะกัดกินใบแตงขาดเป็นวง ๆ ตามปกติเต่าแตงลงกินใบอ่อน ต้นแตงโมหรือพืชพวกฟัก แฟง แตงกวาอื่น ๆ มักจะไม่ทําความเสียหายให้กับพืชมากนัก แต่จะเป็นพาหะนําเชื้อโรคเถาเหี่ยวของแตงโมซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียมาสู่แตงโมของเราจึงต้องป้องกันกําจัดโดยฉีดพ่น ด้วยสารเคมีเซฟวิน 85 (คาร์บาริล 85%) ในอัตรา 20-30 กรัม ผสมนํ้า 20 ลิตร ฉีดในระยะทอดยอด ฉีดคลุมไว้ก่อน สัปดาห์ละครั้งโดยไม่ต้องรอให้แมลงเต่าแตงลงมากินเสียก่อนแล้วค่อยฉีดในภายหลัง ซึ่งจะทําให้ป้องกันโรคเถาเหี่ยวของแตงโมไม่ทัน
- แมลงวันแตง เข้าทําลายตั้งแต่ระยะติดดอกถึงเก็บเกี่ยว ใช้พอสซ์ (carbosulfan20% W/V EC) หรือ อโซดริน ฉีดพ่นให้ทั่วแปลงเพื่อป้องกันกำจัด
ข้อมูลอ้างอิง : การปลูกแตงโม (เฉลิมเกียรติ โภคาวัฒนา, เกตุอร ราชบุตร) เอกสารเผยแพร่ของกรมส่งเสริมการเกษตร
คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพกับแตงโม
การใช้ดินเทพ
– ช่วงเตรียมดิน ยกแปลง : ดินเทพ 50 ซีซีผสมน้ำ 60 ลิตร ฉีดพ่นในพื้นที่ 1 ไร่ ก่อนย้ายกล้าลงแปลงปลูก
การใช้ไร่เทพ และโล่เขียว
– ระยะแตงโมต้นเล็ก (อายุ 7-15 วัน) : โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 150 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง 7-10 วัน
– ระยะทอดยอด (อายุ 15-20 วัน) : โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100-150 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง 7-10 วัน
– ระยะดอก-ผลเล็ก (อายุ 25-30 วัน) : โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง 7-10 วัน
– ระยะขยายผล สร้างเนื้อ (อายุ 35-55 วัน) : โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง 7-10 วัน