แตงกวาพืชทนร้อน
แตงกวา เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับแตงโม ฟักทอง บวบ มะระ นํ้าเต้า ซึ่งมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวสั้น โดยใช้เวลาเพียง 30-45 วัน หลังจากปลูกเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากการปลูกแตงกวากับพืชอื่น ๆ หลายชนิดแล้ว แตงกวาเป็นพืช หนึ่งที่สามารถทํารายได้ดีทีเดียว สําหรับในแง่ของผู้บริโภคแล้ว แตงกวาที่สามารถนําไปปรุงอาหารได้มากมายหลายชนิด เช่น การนําไปแกงจืด ผัด จิ้มนํ้าพริก หรืออาจแปรรูปเป็นแตงกวาดอง จะเห็นได้ว่า แตงกวาเป็นพืชที่เข้ามามีบทบาทต่อการค้าทั้งในและต่างประเทศ
แตงกวามีถิ่นกําเนิดในประเทศอินเดีย มีการบันทึกประวัติการปลูกมากกว่า 3,000 ปีและมีการปลูกในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อก่อน 2,000 ปี โดยนําผ่านเอเชียกลางและตอนเหนือ ของทวีปแอฟริกาในศตวรรษที่ 6 ได้นําไปปลูกในประเทศจีนโดยสันนิษฐานว่าได้นําเข้าประเทศจีนสองทาง คือเส้นทางสายไหมโดยผ่านประเทศในเอเชียตะวันออกไปภาคเหนือของประเทศจีน ส่วนอีกเส้นทางโดยผ่านประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ พม่า ไทย ลาว ไปสู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน ในตวรรษที่ 9-14 ได้นําไปปลูกในทวีปยุโรปและได้รับการพัฒนาพันธุ์ต้นศตวรรษที่ 19 ได้รับการพัฒนาพันธุ์ให้เหมาะสมต่อการปลูกได้ในโรงเรือน ศตวรรษที่ 15-16 ได้นําไปปลูกในทวีปอเมริกา กลางและอเมริกาเหนือ และได้รับการพัฒนาพันธุ์อย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันแตงกวาเป็นผักที่นิยมบริโภคทั่วโลก ทั้งในสภาพการบริโภคสดและแปรรูป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แตงกวามีจํานวนโครโมโซม2n=14 เป็นพืชผสมข้ามตามธรรมชาติโดยอาศัยลมและแมลง แต่พบอัตราการผสมตัวเอง 1-47 เปอร์เซ็นต์ โดยธรรมชาติมีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกดอกแต่อยู่ภายในต้นเดียวกัน เป็นพืชฤดูเดียวเถาเลื้อยหรือขึ้นค้าง ระบบรากเป็นระบบรากแก้ว (tap root system) รากแขนงเป็นจํานวนมากรากสามารถแผ่ทางด้านกว้างและหยั่งลงได้ลึกถึง 1 เมตร ลําต้นเป็นเถาเลื้อยเป็นเหลี่ยมมีขนขึ้นปกคลุมทั่วไป มีข้อยาว 10-20 ซม. มือเกาะเกิดออกมา ตามข้อโดยส่วนปลายของมือเกาะไม่มีการแตกแขนงเป็นหลายเส้นใบมีก้านใบยาว 5-15 ซม. ใบหยาบมีขนใบมีมุมใบ 3-5 มุม ปลายใบแหลม ใบใหญ่แบบ palmate มีเส้นใบ 5-7 เส้น ดอกเพศเมียเป็น ดอกเดี่ยวเกิดจากบริเวณมุมใบหรือข้อมีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ รังไข่มีลักษณะกลมยาว 2-5 ซม. มีปุ่มนูนของหนามและขนชัดเจนส่วนของยอดเกสรตัวเมียมี 2-5 แฉก ส่วนดอกเพศผู้อาจเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศเมีย ละอองเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีก้านชูเกสรสั้น ๆ ดอกเพศเมียและดอกเพศผู้บานในตอนเช้าและพร้อมรับการผสมเกสร ดอกจะหุบตอนบ่ายภายในวันเดียวกัน
การเกิดดอกตัวเมียนั้นขึ้นอยู่กับช่วงแสงและอุณหภูมิ กล่าวคือจะเกิดดอกตัวเมียมากกว่าดอกตัวผู้ในสภาพช่วงแสงสั้น และมีอุณหภูมิกลางคืนตํ่าซึ่งตรงกับฤดูหนาวของเมืองไทย ผลของแตงกวามีลักษณะกลมยาวทรงกระบอก ความยาวผลระหว่าง 5-40 ซม. มีไส้ภายในผลและในปัจจุบันพันธุ์การค้าในต่างประเทศมีการปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถติดผลได้ โดยไม่ได้รับการผสมเกสร (parthenocarpic type) โดยภายในผลไม้มีไส้เนื้อกรอบ และนํ้าหนักต่อผลสูงนิยมทั้งบริโภคผลสด-แปรรูป สีผลมีสีขาว เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้มดํา สีหนามสีขาว แดง นํ้าตาล และดํา
การจำแนกแตงกวา
แตงกวาสามารถจําแนกได้ตามประโยชน์การใช้สอยดังนี้ 1. พันธุ์สําหรับรับประทานสด เป็นพันธุ์ที่มีเนื้อบางและไส้ใหญ่ สีเปลือกเป็นสีเขียวอ่อน ผล มีนํ้ามากเป็นพันธุ์ที่มีทั้งผลเล็กและผลใหญ่ เมื่อผลยังอ่อนอยู่จะมีหนามเต็มไปหมด แต่เมื่อโตเต็มที่ หนามจะหลุดออกเอง พันธุ์รับประทานสดนี้ไม่เหมาะกับการนําไปดอง แตงกวารับประทานสดแบ่งตามขนาดของผลนั้น แบ่งได้เป็น 1.1 แตงผลยาว (long cucumber) ที่รู้จักกันในชื่อของแตงร้าน ซึ่งมีความยาวผลอย่าง น้อย 15 ซม. และมีความกว้างผลมากกว่า 2.5 ซม. ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหนาไส้แคบ กรณีที่เป็นพันธุ์ ของไทยนั้น จะมีสีผลสีเขียวแก่ตรงส่วนใกล้ขั้วผลประมาณ 1/3 ของผลที่เหลือมีจุดประสีเขียวอ่อนหรือ ขาวและเส้นสีขาวเป็นแถบเล็ก ๆ ตลอดความยาวไปถึงปลายผล ส่วนพันธุ์ของต่างประเทศนั้นจะมีสีเขียวเข้มสมํ่าเสมอทั้งผล
1.2 แตงผลสั้น (short cucumber) ที่รู้จักกันในชื่อของแตงกวา ซึ่งมีความยาวผล 8-12 ซม. และมีความกว้างผลมากกว่า 2.5 ซม. ส่วนใหญ่จะมีเนื้อน้อยไส้กว้าง
2. พันธุ์อุตสาหกรรม เป็นพันธุ์ที่มีเนื้อหนา ไส้เล็ก บางพันธุ์ก็ไม่มีไส้เลย เปลือกสีเขียวเข้ม เมื่อนําไปดองจะคงรูปร่างได้ดีไม่ค่อยเหี่ยวย่น แตงกวาพันธุ์นี้มักจะเป็นลูกผสม ผลมักมีรูปร่างผอมยาว ซึ่ง แบ่งตามขนาดได้ดังนี้ 2.1 แตงผลยาว (long cucumber) เป็นแตงชนิดที่ใช้ทําแตงดองของญี่ปุ่นและจีน ซึ่งจะต้องมีความยาวผล 20-30 ซม. และมีความกว้างผล 2-3 ซม. มีเนื้อหนาไส้แคบผิวสีเขียวเข้มตลอดความยาวของผล มักใช้ดองโดยมีการใช้นํ้าปรุงรสด้วยส่วนผสมของซีอิ้ว
2.2 แตงผลสั้น (short cucumber) เป็นแตงชนิดที่ใช้ทําแตงดองของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งมี ความยาว 8-12 ซม. และมีความกว้างผล 1.0-5.1 ซม. โดยทั่วไปจะมีอัตราส่วนความยาวต่อความ กว้าง (L/D ratio) มีค่าอยู่ระหว่าง 2.8-3.1 มีเนื้อหนาและแน่น ไส้แคบ ผิวสีเขียวเข้มตลอดความยาวของผล มักใช้ดองทั้งผล ผ่าตามความยาวและหั่นเป็นชิ้นๆ ตามความกว้างของผลมักดองโดยมีการใช้นํ้าปรุงรสด้วยส่วนผสมของซีอิ้ว
สภาพแวดล้อมในการปลูกแตงกวา
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส สามารถเจริญเติบโต ได้ผลดีระหว่างอุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางวัน 22-28 องศาเซลเซียส แตงกวาจะชะงักการเจริญเติบโต สําหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการผสมเกสรนั้นอยู่ระหว่าง 17-25 องศาเซลเซียส แตงกวาเป็นพืชที่ไม่ต้องการนํ้ามากแต่ขาดนํ้าไม่ได้ โครงสร้างของดินที่ปลูกแตงกวาควรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายนํ้าดีควรมีความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ใน สภาพดินที่เป็นดินทรายจัด หรือเหนียวจัดจําเป็นต้องปรับปรุงบํารุงดินก่อนการปลูก โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วและสภาพความเป็นกรดด่างนั้นควรจะวิเคราะห์หาค่ากรด-ด่าง ก่อนที่จะใช้ปูนขาวเพื่อให้มีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
การเตรียมดิน
ก่อนการปลูกแตงกวาทําการไถพรวนดินตากไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อทําลายวัชพืชและศัตรูพืชบางชนิดที่อยู่ในดิน จากนั้นจึงไถพรวนเก็บเอาเศษวัชพืชออกแล้วเตรียมแปลงขนาดกว้าง 1-1.2 เมตร โดยมีความยาวตามลักษณะของพื้นที่แล้วจึงใส่ปุ๋ยอินทรียลงไปปรับโครงสร้างของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของแตงกวา การเตรียมหลุมปลูกนั้นควรกําหนด ระยะระหว่างต้นประมาณ 60-80 เซนติเมตร ระหว่างแถวประมาณ 1 เมตร สําหรับการใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้นนั้นอาจใช้สูตร 15-15-15 ในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ในบางพื้นที่อาจใช้พลาสติกคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นในดินป้องกันความงอกของวัชพืช และพลาสติกบางชนิดสามารถที่จะไล่แมลง ไม่ให้เข้ามาทําลายแตงกวาได้
การเตรียมพันธุ์
ขั้นตอนการเตรียมพันธุ์นับว่าเป็นขั้นตอนที่สําคัญในการปลูกแตงกวาซึ่งพอแบ่งได้ดังนี้
1. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์แตงกวา ควรคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ ซื้อจากร้านค้าให้เลือกซื้อจากร้านที่เชื่อถือมีการบรรจุหีบห่อเมล็ดที่สามารถป้องกันความชื้นหรืออากาศจากภายนอกเข้าไปได้ ลักษณะเมล็ดแตงกวาควรมีการคลุกสารเคมีเพื่อป้องกันศัตรูพืชที่อาจติดมากับเมล็ด และก่อนใช้เมล็ดทุกครั้งควรทําการทดสอบความงอกก่อน
2. การเตรียมดินเพาะกล้า อัตราส่วนดิน : ปุ๋ยคอก 3:1 และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 0.5 กิโลกรัม ต่อต้นกล้า 1 ไร่ คลุกให้เข้ากันแล้วบรรจุลงในถุงพลาสติกขนาด 6×10 เซนติเมตร เพื่อเตรียมสําหรับหยอดเมล็ดแตงกวาต่อไป
3. ทําการบ่มเมล็ด โดยนําเมล็ดบรรจุถุงพลาสติกที่เจาะรูพรุน แช่ในสารละลายเคมีป้องกัน และกําจัดศัตรูพืช เช่น แคปเทน ออโธไซด์ผสมอัตรา 5 กรัมต่อนํ้า 1 ลิตร แช่เมล็ดนาน 30 นาที เพื่อ ทําลายเชื้อราที่ผิวเมล็ด จากนั้นนํามาแช่นํ้า 4 ชั่วโมง แล้วจึงบ่มในผ้าชุบนํ้าหมาด ๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่นบ่มในสภาพอุณหภูมิห้องนาน 24 ชั่วโมง หลังจากรากงอกยาว 0.5 เซนติเมตรจึงนําไปเพาะต่อไป
4. การหยอดเมล็ดลงถุง นําเมล็ดที่ได้บ่มไว้หยอดลงแต่ละถุง จํานวนถุงละ 1 เมล็ด แล้วใช้ดินผสมหยอดกลบบางประมาณ 1 เซนติเมตร การดูแลรักษากล้าหลังจากหยอดเมล็ดแล้วให้นํ้าทันทีโดยวิธีการฉีดพ่นให้เป็นฝอยละเอียดที่สุดเท่าที่จะทําได้ ปริมาณนํ้าที่ให้นั้นไม่ควรให้ปริมาณที่มากเกินไป ในช่วงฤดูร้อนควรจะให้วันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้ตรวจดูความชื้นก่อนการให้นํ้าทุกครั้ง ถุงเพาะกล้านี้ควรเก็บไว้ในที่แดดไม่จัดหรือมีการใช้วัสดุกันแสงไม่ให้มากระทบต้นกล้ามากเกินเกินไป เมื่อแตงกวาเริ่มงอกให้หมั่นตรวจดูความผิดปกติของ ต้นกล้าเป็นระยะ ๆ หากมีการระบาดของแมลงหรือโรคพืช ต้องรีบกําจัดโดยเร็วและเมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 3-4 ใบจะอยู่ในระยะพร้อมที่จะย้ายปลูก
5. การเพาะกล้าในถาดเพาะ
ในปัจจุบันเพื่อความสะดวกสบาย ได้มีการใช้ถาดเพาะกล้าหรือถาดหลุมที่มีจำนวนหลุมทั้งหมด 104 หลุม มาใช้เพาะกล้าโดยวัสดุปลูกที่ใช้จะเป็นดินเพาะกล้าที่สั่งมาจากต่างประเทศที่เรียกกันว่า “ มีเดีย , พีทมอส ” แต่เป็นวัสดุปลูกที่มีราคาค่อนข้างสูงมีราคาแพงทำให้เกษตรกรมีการประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุน แล้วสามารถใช้ได้ผลดีเช่นกันที่เรียกกันว่า “การผสมดิน” เพื่อลดต้นทุนเรื่องของวัสดุเพาะกล้า โดยสูตรดินผสมจะมีส่วนผสมดังนี้ ดินมีเดีย 1 กระสอบ (25 กิโลกรัม) : ขุยมะพร้าวปั่นฝอย 50 กิโลกรัม : ดินหมักใบก้ามปู 25 กิโลกรัม จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ ประมาณ 4-5 เท่า ของวัสดุปลูก โดยที่ดินผสม 1 ชุด สามารถใช้ได้เกือบ 70-80 ถาดเพาะเลยทีเดียว
การปลูก
วิธีการปลูกแตงกวานั้นพบว่ามีการปลูกทั้งวิธีการหยอดเมล็ดโดยตรงและเพาะกล้าก่อนแล้วย้ายปลูก การหยอดเมล็ดโดยตรงนั้นอาจจะมีความสะดวกในการปลูก แต่มีข้อเสียคือสิ้นเปลืองเมล็ดหากใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมซึ่งมีราคาแพงแล้วจะเกิดความสูญเสียเปล่าและเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต รวมทั้งวิธีการหยอดเมล็ดนี้จําเป็นที่จะต้องดูแลระยะเริ่มงอกในพื้นที่กว้าง ดังนั้นการใช้วิธีการเพาะกล้าก่อนจึงมีข้อดีหลายประการ อาทิเช่นประหยัดเมล็ดพันธุ์ดูแลรักษาง่าย ต้นกล้ามีความสมํ่าเสมอประหยัดค่าแรงงานในระยะกล้าเป็นต้น
สําหรับการย้ายกล้าปลูกนั้นให้ดําเนินการตามกระบวนการเพาะกล้าตามที่กล่าวแล้วและเตรียมหลุมปลูกตามระยะที่กําหนด จากนั้นนําต้นกล้าย้ายปลูกลงในหลุม ตามระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวตามที่ได้กําหนดไว้ โดยการฉีกถุงพลาสติกที่ใช้เพาะกล้าออกแล้วย้ายลงในหลุมปลูก ช่วงเวลาที่จะย้ายกล้านั้นควรย้ายช่วงประมาณเวลา 17.00 น. จะทําให้ปฏิบัติงานในไร่นาได้สะดวกและต้นกล้าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น
การให้นํ้า
หลังจากย้ายกล้าปลูกแล้ว ต้องให้นํ้าทันทีระบบการให้นํ้านั้นอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ระบบที่เหมาะสมกับแตงกวา คือการให้นํ้าตามร่องเพราะว่าจะไม่ทําให้ลําต้นและใบไม่ชื้น ลดการลุกลามของโรคพืชทางใบ ช่วงเวลาการให้นํ้าในระยะแรกควรให้ 2-3 วันต่อครั้งและเมื่อต้นแตงกวา เริ่มเจริญเติบโตแล้วจึงปรับช่วงเวลาการให้นํ้าให้นานขึ้น ข้อควรคํานึงสําหรับการให้นํ้านั้นคือ ต้องกระจายในพื้นที่สมํ่าเสมอตลอดแปลงและตรวจดูความชื้นในดินไม่ให้สูงเกินไปจนกลายเป็นแฉะ เพราะจะทําให้รากเน่าได้
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยในแตงกวานั้นอาจแบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้ 1. ระยะเตรียมดิน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตันต่อไร่และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 10-10-12 อัตราประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อไร่
2. หลังย้ายปลูกประมาณ 7 วัน ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจน เช่น ยูเรีย หรือ แอมโมเนียซัลเฟต ในอัตรา ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อไร่
3. ระยะแตงกวาออกดอก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 25 วัน หลังจากย้ายกล้า ใส่ปุ๋ยสูตร 15- 15-15 หรือ 10-10-12 อัตรา ประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อไร่
แมลงศัตรูแตงกวา
ในแตงกวานั้นมีศัตรูที่ทําลายแตงกวาแบ่งได้คือแมลงศัตรูแตงแตงกวานั้นเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่มีแมลงศัตรูเข้าทําลายมาก และที่พบบ่อยและทําความเสียหายกับแตงกวามากได้แก่
1. เพลี้ยไฟ (Thrips : Haplothrips floricola) ลักษณะเป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวสีนํ้าตาลอ่อนถึงนํ้าตาลแก่ พบตามยอดใบอ่อน ดอกและผลอ่อน
การทําลาย ดูดนํ้าเลี้ยงที่ใบ ดอกอ่อน และยอดอ่อน ทําให้ใบม้วนหงิกงอ รูปร่างผิดปกติเป็นกระจุก มีสีสลับเขียวเป็นทางระบาดมากในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งฝนทิ้งช่วง นับเป็นแมลงที่เป็นปัญหาสําคัญที่สุดในการปลูกแตงกวา
การป้องกันกําจัด ให้นํ้าเพิ่มความชื้นในแปลงปลูกโดยให้นํ้าเป็นฝอยตอนเช้าและตอนเย็น จะช่วยลดปัญหาของเพลี้ยไฟได้ ใช้สารฆ่าแมลง คือ พอสซ์ เมซูโรล ไดคาร์โซล ออลคอล อีมาเม็กตินเบนโซเอต เป็นต้น
2. เพลี้ยอ่อน (Alphids: Aphids gossypii) ลักษณะ เป็นแมลงขนาดเล็ก ลําตัวคล้ายผลฝรั่ง มีท่อเล็ก ๆ ยื่นยาวออกไปทางส่วนท้ายของลําตัว 2 ท่อน เป็นแมลงปากดูด ตัวอ่อนสีเขียว ตัวแก่สีดําและมีปีก
การทําลาย ดูดนํ้าเลี้ยงที่ใบและยอดอ่อน ทําให้ใบม้วน ต้นแคระแกร็น และยังเป็นพาหนะนําไวรัสด้วย มักระบาดมากในช่วงอากาศร้อนและแห้งซึ่งเป็นตอนที่พืชขาดนํ้า โดยมีมดเป็นตัวนําหรือการบินย้ายที่ของตัวแก่
การป้องกันกําจัด ใช้สารเคมีป้องกันกําจัดแมลงเช่นเดียวกับการป้องกันกําจัดเพลี้ยไฟ
3. ไรแดง (Red spider mites: Tetranychus spp.) ลักษณะ ไม่ได้เป็นแมลงแต่เป็นสัตว์ที่มีขา 8 ขา มีขนาดเล็กมาก มองเห็นเป็นจุดสีแดง
การทําลาย ดูดนํ้าเลี้ยงที่ใบและหยอดอ่อนทําให้ใบเป็นจุดด่างมีสีซีด โดยจะอยู่ใต้ใบเข้าทําลาย ร่วมกับเพลี้ยไฟ และเพลี้ยอ่อน มักระบาดมากในช่วงอากาศร้อนและแห้งซึ่งเป็นตอนที่พืชขาดนํ้า
การป้องกันกําจัด ใช้สารเคมีกําจัดไร ได้แก่ ไพริดาเบน โพรพาไกด์ อามีทราซ เคลเทน ไตรไทออน หรือ โอไมท์เป็นต้น
4. เต่าแตงแดง (Red cucurbit beetle: Aulacophora simills) และเต่าแตงดํา (Black cucurbit beetle: A. frontalis) ลักษณะเป็นแมลงปากแข็ง ปีกมีสีส้มแดงและสีดําเข้ม ตัวมีขนาดเล็กยาวประมาณ 0.5-0.8 ซม. อาศัยอยู่ตามกอข้าวที่เกี่ยวแล้วในนาหรือตามกอหญ้า
การทําลาย กัดกินใบตั้งแต่ระยะใบเลี้ยงจนกระทั่งต้นโตทําให้เป็นแผลและเป็นพาหะของโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียด้วย ตัวเมียวางไข่บริเวณโคนต้นตัวหนอนกัดกินราก
การป้องกันกําจัด ควรทําลายแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลง รวมทั้งเศษซากแตงหลังการเก็บเกี่ยว ใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ เซฟวิน คาร์โบน็อกซี-85 หรือ ไบดริน หรือใช้สารเคมีชนิดเม็ด เช่น ฟูราดาน 3 จีหรือคูราแทร์ 3 จีใส่หลุมปลูกพร้อมกับการหยอดเมล็ด จะป้องกันเต่าแตงได้ประมาณ 2 สัปดาห์
5. หนอนกินใบแตง (Leaf eating caterpilla: Palpita indica) และหนอนไถเปลือกหรือหนอนเจาะผล (Fruit boring caterpillar:Helicoverpa armigera) ลักษณะหนอนกัดกินใบแตง มีรูปร่างเรียวยาวประมาณ 2 ซม. สีเขียวอ่อน ตรงกลางสันหลังมี เส้นแถบสีขาวตามยาว 2 เส้น หนอนตัวโตเต็มวัยเป็นผีเสื้อที่มีปีกโปร่งใสตรงกลาง ส่วนหนอนเจาะผลมี ขนาดใหญ่กว่า ลําตัวยาวสีเขียวอ่อนถึงสีนํ้าตาลดํา มีรอยต่อปล้องชัดเจน
การทําลาย กัดกินใบ ไถเปลือกเป็นแผล และเจาะผลเป็นสาเหตุให้โรคอื่น ๆ เข้าทําลายต่อได้ เช่น โรคผลเน่า
การป้องกันกําจัด ใช้สารเคมีเช่น อีมาเม็กตินเบนโซเอต สไปนีโทแรม คลอแรนทานิลิโพร ทามารอน อโซดริน หรือ อะโกรน่า เป็นต้น
โรคในแตงกวา แตงกวามีโรคที่เป็นศัตรูสําคัญ ได้แก่
1. โรครานํ้าค้าง (Downy mildew) หรือที่เกษตรกรนิยมเรียกว่าโรคใบลาย เกิดจากเชื้อ Psudoperonospora ลักษณะอาการ เริ่มเป็นจุดสีเหลืองบนใบ แผลนั้นจะขยายออกเป็นเหลี่ยมในระหว่างเส้นใบ ถ้าเป็นมาก ๆ แผลลามไปทั้งใบทําให้ใบแห้งตาย ในตอนเช้าที่มีหมอกนํ้าค้างจัดช่วงหลังฝนตกติดต่อกันทําให้มีความชื้นสูง ในบริเวณปลูกจะพบว่าใต้ใบตรงตําแหน่งของแผลจะมีเส้นใยสีขาวเกาะเป็นกลุ่มและมีสปอร์เป็นผงสีดํา
การป้องกันกําจัด คลุกเมล็ดแตงด้วยสารเคมีเอพรอน หรือริโดมิลเอ็มแซด ก่อนปลูกหรือจะนําเมล็ดมาแช่สารเคมีที่ละลายนํ้าเจือจางเป็นเวลา 3 ชั่วโมงก็ได้เมื่อมีโรคระบาดในแปลง และในช่วงมีหมอกและนํ้าค้างมากควรฉีด Curzate-M8, Antrachor หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกันเพื่อป้องกันการดื้อสารเคมีของเชื้อ
2. โรคใบด่าง (Mosaic) เชื้อสาเหตุ Cucumber mosaic virus ลักษณะอาการ ใบด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อนหรือด่างเขียวสลับเหลืองเนื้อใบตะปุ่มตะป่ำ มีลักษณะนูนเป็นระยะ ๆ ใบหงิกเสียรูปร่าง
การป้องกันกําจัด ในปัจจุบันยังไม่มีการใช้สารเคมีหรือวิธีการใด ๆ ที่จะลดความเสียหายเมื่อโรคนี้ระบาด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดขณะนี้คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น เลือกแหล่งปลูกที่ปลอดจากเชื้อไวรัส อาจทําได้โดยเลือกแหล่งปลูกที่ไม่เคยปลูกผักตระกูลแตงมาก่อนและทําความสะอาดแปลงปลูก พร้อมทั้งบริเวณใกล้เคียงให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของเชื้อและแมลงพาหะ
3. โรคผลเน่า (Fruit rot) เชื้อสาเหตุ Pythium spp., Rhizoctonia solani, Botrytis cinerea ลักษณะอาการ มักเกิดกับผลที่สัมผัสดิน และผลที่แมลงกัดหรือเจาะทําให้เกิดแผลก่อนจะพบมาก ในสภาพที่เย็นและชื้นกรณีที่เกิดจากเชื้อพิเที่ยมจะเป็นแผลฉํ่านํ้าเริ่มจากส่วนปลายผล ถ้ามีความชื้นสูงจะมีเส้นใยฟูสีขาวขึ้นคลุมกรณีที่เกิดจากเชื้อไรซ็อกโทเนีย จะเป็นแผลเน่าฉํ่านํ้าบริเวณผิวของผลที่สัมผัสดิน แผลจะเปลี่ยนจากสีนํ้าตาลแก่และมีรอยฉีกของแผลด้วย ส่วนกรณีที่เกิดจากเชื้อโบทริทิ่สนั้นบริเวณ ส่วนปลายของผลที่เน่าจะมีเชื้อราขึ้นคลุมอยู่
การป้องกันกําจัด ทําลายผลที่เป็นโรค อย่าให้ผลสัมผัสดิน ป้องกันไม่ให้ผลเกิดบาดแผล
4. โรคราแป้ง (Powdery mildew) เชื้อสาเหตุ Oidium sp. ลักษณะอาการ มักเกิดใบล่างก่อนในระยะที่ผลโตแล้ว บนใบจะพบราสีขาวคล้ายผงแป้งคลุมอยู่ เป็นหย่อมๆกระจายทั่วไปเมื่อรุนแรงจะคลุมเต็มผิวใบทําให้ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วแห้งตาย
การป้องกันกําจัด ใช้สารเคมีเช่น แมนโคเซป เบนเลท เดอโรซาล Diametan หรือ Sumilex ฉีดพ่นเมื่อพบการระบาด
การเก็บเกี่ยว
อายุการเก็บเกี่ยวของแตงกวานับจากวันปลูกประมาณ 30-40 วัน แล้วแต่พันธุ์แตงกวาสําหรับบริโภคสด ควรเลือกเก็บขณะที่ผลยังอ่อนอยู่เนื้อแน่นกรอบ และสังเกตได้จากมีนวลสีขาวเกาะและยังมี หนามอยู่บ้างถ้าผลแก่นวลจะจางหาย สีผลเริ่มเป็นสีเหลือง และไม่มีหนามการเก็บแตงกวาควรทยอยเก็บวันเว้นวัน ไม่ปล่อยให้แก่คาต้นเพราะจะทําให้ผลผลิตทั้งหมดลดลงโดยปกติจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ประมาณ 1 เดือน
ที่มาข้อมูล : การปลูกแตงกวา เฉลิมเกียรติ โภคาวัฒนา, ภัสรา ชวประดิษฐ, กลุ่มพืชผักกองส่งเสริมพืชสวนกรมส่งเสริมการเกษตร
คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพกับแตงกวา
การใช้ดินเทพ
– ช่วงเตรียมดิน ยกแปลง : ดินเทพ 50 ซีซีผสมน้ำ 60 ลิตร ฉีดพ่นในพื้นที่ 1 ไร่ ก่อนย้ายกล้าลงแปลงปลูก
การใช้ไร่เทพ และโล่เขียว
– ระยะต้นอ่อน (อายุ 7-14 วัน) : โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 150 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง 7-10 วัน
– ระยะเจริญเติบโต (อายุ 10-25 วัน : โล่เขียว 100 ซีซี+ไร่เทพ 1ซองผสมน้ำ 100-150 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง 7-10 วัน
– ระยะดอกแรก (อายุ 25-35 วัน) : โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง 7-10 วัน
– ระยะผลอ่อน – เก็บเกี่ยว ดอกต่อเนื่อง (อายุ 40-60 วัน) : โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง 7-10 วัน