วิธีการกะหล่ำปลี ให้ได้ผลิตสูง
พันธุ์และการปลูก
พันธุ์กะหล่ำปลีมีความหลากหลายของลักษณะหัวและสี เลือกพันธุ์ปลูกที่ตรงกับ ความต้องการของตลาดและมีการเจริญเติบโตเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เมล็ดพันธุ์การค้าส่วนใหญ่เป็นลูกผสมจากต่างประเทศ การแบ่งพันธุ์ตามอายุการเก็บเกี่ยว ประกอบด้วยพันธุ์หนักที่เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 90-120 วัน พันธุ์กลางอายุ 80-90 วัน และพันธุ์เบาอายุ 60-70 วัน
พันธุ์กะหล่ำปลี
พันธุ์หนัก ลักษณะหัวใหญ่แต่ไม่แน่น น้ำหนักระหว่าง 2-4 กิโลกรัม ไม่ค่อยกรอบและเก็บไว้ได้ไม่นาน ต้องการอากาศเย็นสม่ำเสมอระยะเวลายาวนาน เช่น ชัวเฮทเบอพี, พรีเมี่ยม, แฟลชท์ดัชท์, วิชคอนชั่น รูบี้บอล, รูบี้เพอเฟคชั่น และกะหล่ำปลีจีนพันธุ์เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น
พันธุ์กลาง ลักษณะหัวค่อนข้างกลมแบน หัวแน่น น้ำหนักระหว่าง 1-3 กิโลกรัม ต้องการอากาศเย็นมากกว่าพันธุ์เบา เก็บไว้ได้นานพอสมควรสะดวกในการขนส่ง เช่น เฮนฮูเลนกลอรี่, ซัสเสสชัน และออลซีซั่น
พันธุ์เบา มีลักษณะพันธุ์ค่อนข้างหลากหลายแตกต่างกันตามพันธุ์ เช่นโคเปนเฮเกนมาร์เก็ต ลักษณะหัวกลมรี แน่น เส้นใบนูนเด่น มีน้ำหนักระหว่าง 0.3-2 กิโลกรัม ปลูกง่าย ต้องการอากาศหนาวน้อย เออรี่เจอซี่เวดฟิลด์ มีลักษณะหัวเล็กแน่น ฐานโตยอดแหลมมีรสชาติดี น้ำหนักและการปลูกเช่นเดียวกับพันธุ์ โคเปนเฮเกนมาร์เก็ต มาเรียนมาร์เก็ต, โกลเดนเอเคอร์ ลักษณะหัวค่อนข้างแบน มีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์โคเปนเฮเกนมาร์เก็ตเล็กน้อย หัวแน่น น้ำหนักดี
การจำแนกตามอายุเก็บเกี่ยวและสี เช่น กะหล่ำปลีพันธุ์หนัก ได้แก่ กะหล่ำปลีสีม่วง กะหล่ำปลีใบย่น กะหล่ำปลีพันธุ์กลาง ได้แก่ กะหล่ำปลีสีเขียว – สีขาว รูปกลม รูปแป้น กะหล่ำปลีพันธุ์เบา ได้แก่ กะหล่ำปลีรูปหัวใจ
สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม กะหล่ำปลีปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศดี อุณหภูมิที่เหมาะสม 15-20 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วง 6-6.5 ความชื้นในดินสูงพอสมควรและได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน
การเตรียมดินและแปลงปลูก
ไถดินลึกประมาณ 18-20 เซนติเมตร ตากดิน 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 1.5-2.0 ตัน / ไร่
ย่อยผิวหน้าดินให้มีขนาดก้อนเล็กแต่ไม่ต้องละเอียดจนเกินไป ถ้าดินเป็นกรดต่ำกว่า 6.5 ควรใส่ปูนขาวอัตรา 100-300 กิโลกรัม / ไร่ ดินควรมีความชื้นเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเร็วขึ้น แล้วปล่อยทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ หรือ ใช้ดินเทพในอัตรา 50-100 ซีซี / น้ำ 60 ลิตร ฉีดพ่นในพื้นที่ 1ไร่ ช่วงเตรียมดินก่อนปลูก
หลังเตรียมแปลงปลูกแล้ว ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1.0 – 2.0 ตัน / ไร่
การเพาะกล้า
เตรียมดินเหมือนการเตรียมแปลงปลูกขนาดกว้าง 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสม สูง 15-20 เซนติเมตร ปรับหน้าดินให้เรียบ
การหว่านเมล็ด ให้กระจายบาง ๆ สม่ำเสมอ หรือทำร่องบนแปลงเพาะร่องห่างกัน 15 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดกลบด้วยดินผสมหรือปุ๋ยหมัก คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบาง ๆ รดน้ำให้เป็นฝอยทุกวัน
เพาะกล้าในถาดหลุม โดยใช้วัสดุปลูกหรือดินสำเร็จรูป ต้นกล้าอายุ 25-30 วันเหมาะสมในการย้ายปลูกลงแปลง
การปลูก
ปลูกเป็นแถวเดียวหรือแถวคู่ ระยะห่าง 30-40 x 30-40 เซนติเมตร
รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมี 13-13-21 อัตรา 100-150 กิโลกรัม / ไร่ และปุ๋ยอินทรีย์ 3.0-4.0 ตัน / ไร่ รดน้ำให้เปียกชื้น
ปลูกด้วยต้นกล้าอายุ 25-30 วัน โดยรดน้ำให้ความชื้นกับแปลงเพาะกล้าใช้เสียมเล็ก ๆ แทงลงไปในดินแล้วงัดขึ้นมาให้มีดินติดกับต้นกล้าให้มากที่สุดก่อนนำไปปลูกในแปลง และรดน้ำทันทีหลังปลูกให้ชุ่ม ป้องกันการเหี่ยวเฉา
การใส่ปุ๋ย ให้น้ำและการดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ยกะหล่ำปลีเป็นพืชที่ต้องการธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียมสูง ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้คือ ปุ๋ย 13-13-21 หรือ 14-14-21 โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ขณะเตรียมดิน อัตรา 100-150 กก. / ไร่ ครั้งที่ 2 หลังย้ายปลูก 14-20 วัน อัตรา 100-150 กก. / ไร่
การให้น้ำและการดูแลรักษา
ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอไม่ปล่อยให้ขาดน้ำ การให้น้ำมีหลายวิธี เช่น แบบปล่อยไปตามร่องระหว่างแปลงประมาณ 7-10 วัน / ครั้ง ในเขตร้อนและแห้งแล้งจำเป็นต้องให้น้ำมากขึ้น ลดปริมาณน้ำลงเมื่อเริ่มเข้าปลี ป้องกันปลีแตก แบบสปริงเกอร์ หรือใช้สายยาง ควรรดให้แฉะแต่ไม่ให้น้ำขังแปลง
การพรวนดินและกำจัดวัชพืช ระยะแรกบ่อย ๆ
การจัดการศัตรูพืช การจัดการโรค แมลง และวัชพืช
โรคพืชในกะหล่ำ และการป้องกันกำจัด
โรคใบจุด สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Alternaria brassicicola และ A. brassicae ลักษณะอาการ : เชื้อสาเหตุชนิดนี้มักทำให้เกิดโรคกับพืชตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม กะหล่ำดาว บร็อคโคลี่ ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง และผักกาดหัว อาการของโรคเกิดทุกส่วน และทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช ตั้งแต่ต้นอ่อนที่เริ่มงอกจนถึงต้นแก่ อาการระยะแรกบนต้นกล้า จะเกิดเป็นแผลสีน้ำตาลเล็ก ๆ สีน้ำตาลดำ ลักษณะคล้ายโรคเน่าคอดินที่เกิดขึ้นกับลำต้น เมื่อเชื้อเข้าทำลายในระยะต้นกล้า จะทำให้ต้นกล้าหยุดการเจริญเติบโตหรือชะงักงัน เกิดเป็นแผลจุดเล็ก ๆ สีเหลืองต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้น สีน้ำตาลเข้มถึงดำ แผลมีลักษณะเป็นวงค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
การแพร่ระบาด : สปอร์แพร่กระจายไปตามลม น้ำ แมลง สัตว์ มนุษย์ และติดไปกับเครื่องมือ โรคนี้ระบาดมากในฤดูฝนหรือในระยะที่มีความชื้นสูง สภาพอากาศร้อนชื้น ราสาเหตุสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ (seed-borne)
การป้องกันกำจัด :
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค หรือฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ด โดยแช่น้ำอุ่น 49-50 องศาเซลเซียส นาน 20-25 นาที
- หลีกเลี่ยงการปลูกผักกาดหรือกะหล่ำต่าง ๆ ลงในดินที่เคยปลูกและมีโรคระบาดมาก่อนอย่างน้อย 3-4 ปี
- กำจัดทำลายวัชพืชในแปลงปลูก
- พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมื่อพบโรค เช่นคลอโรทาโลนิล (chlorothalonil) 50% เอสซีหรือ โพรพิโคลนาโซล (propiconazole) 25% อีซีหรือ เตตระโคนาโซล (tetraconazole) 40% อีดับเบิ้ลยู
โรคราน้ำค้าง สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Peronospora parasitica (Pers. Ex.Fr.) Fr. ลักษณะอาการ : โรคสามารถแสดงอาการได้ทุกระยะการเจริญของพืช ในระยะกล้า ใบเลี้ยงเกิดเป็น จุดช้ำสีน้ำตาลหรือดำ ล่าต้นเน่า ยุบตัว ทำให้พืชตายหรือแคระแกรน ไม่เจริญเติบโตในระยะต้นโต อาการระยะแรกมักเกิดจุดสีเหลืองเป็นหย่อมๆ หรือเป็นปื้นเหลืองด้านหน้าใบ มีเส้นใยสีขาวหรือเทา คล้ายปุยฝ้ายด้านหลังใบ แต่ในสภาพอากาศแห้งมักพบแต่อาการเหลืองซีดเทำนั้น เมื่อเกิดการระบาดรุนแรง แผลขยายขนาดใหญ่มากขึ้น เนื้อใบกลายเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล หรือแห้งตาย ในกะหล่ำดอก และบล็อกโคลี่ ถ้าเชื้อเข้าทำลายใยระยะสร้างดอก จะเกิดเป็นจุดดำเล็ก ๆ บนช่อดอก หากอาการรุนแรงดอกอาจยืด หรือบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ในกะหล่ำปลีเกิดแผลเป็นจุดเล็ก ๆ บนใบ ไม่ค่อยขยายขนาด
การแพร่ระบาด : ราแพร่กระจายไปกับลม น้ำฝนหรือน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก อาการของโรคพบได้ทั่วไป สภาวะอุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง หมอกหรือน้ำค้างลงจัด เป็นสภาพที่เหมาะต่อการเกิดโรค และการระบาดของเชื้อราอยู่ข้ามฤดูปลูกโดยสร้างสปอร์ผนังหนาซึ่งติดอยู่ตามเศษซากพืช วัชพืชหรืออาศัยกับต้นที่งอกเองนอกฤดู และสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ได้
การป้องกันกำจัด : 1. ใช้เมล็ดพันธุ์ปราศจากเชื้อ หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20-25 นาที ก่อนปลูก หรือคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล หรือ เมทาแลกซิล+แมนโคแซบ
- ควรปลูกพืชให้มีระยะห่างพอสมควร ไม่เบียดแน่นจนเกินไป
- หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรเก็บทำลายเศษซากพืชออกจากบริเวณแปลงปลูก
- ควรหลีกเลี่ยงการปลูกซ้ำในแปลงที่เคยมีการระบาด และควรปลูกพืชหมุนเวียน
- เมื่อพบอาการของโรคในแปลง ควรพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไซม็อกซิเมท (cymoxanil)8% + แมนโคเซบ (mancozeb) 64% ดับเบิ้ลยูพี หรือ แมนโคเซบ (mancozeb) 80% ดับเบิ้ลยูพีหรือ เมทาแลกซิล (metalaxyl) + แมนโคเซบ (mancozeb) 72% ดับเบิ้ลยูพีหรือ โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์(propamocarb hydrochloride) 72.2% เอสแอล หรือสารอื่น ๆ ที่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ แต่ถ้าหากใช้สารประกอบทองแดงในระยะกล้า ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้เพราะเป็นพิษต่อกล้า
โรคเน่าเละ สาเหตุ : เกิดจากแบคทีเรีย Erwinia carotovora pv. Carotovora
ลักษณะอาการ : แบคทีเรียสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืชทั้งในไร่และโรงเก็บ อาการเริ่มแรกแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ แล้วขยายลุกลามทำให้แผลเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลไหม้ บริเวณแผลยุบตัว มีเมือกเยิ้มออกมา เนื้อเยื่อพืชถูกทำลาย
การแพร่ระบาด : ระบาดโดยลม ฝน ทำให้เกิดแผลกับพืช เชื้อเข้าทำลายได้นอกจากนี้ เชื้อยังอยู่ในเศษซากพืชที่เป็นโรคอีกด้วย โรคนี้ระบาดมากในฤดูฝน ในสภาพโรงเก็บพบระบาดลุกลามถ้ามีพืชที่เป็นโรคปะปนอยู่ จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
การป้องกันกำจัด : วิธีเขตกรรม : 1. ไถกลบเศษพืชผักทันทีที่เก็บเกี่ยวแล้ว และทำการตากดินแล้ว ไถกลบอีกครั้ง
- ปลูกพืชหมุนเวียนด้วยพวกธัญพืชหรือข้าวโพด
วิธีกล : 1. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของพืชเกิดแผล และทำลายเศษ ซากพืชที่เป็นโรคด้วยการเผา
- ทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ตลอดจนแปลงปลูกผักและโรงเก็บ
แมลงศัตรูในกะหล่ำปลี
หนอนใยผัก (Dimondback moth) หนอนใยผักมีวงจรชีวิตที่สั้น และมีการแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็ว และวางไข่ได้ตลอดชีวิต แหล่งปลูกส่วนใหญ่มีการปลูกผักวงศ์กะหล่ำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้มีพืชอาหารตลอด จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พบการระบาดของหนอนใยผักเสมอส่งผลให้เกษตรกรมีการใช้สารกำจัดแมลงพ่นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้หนอนใยผักมีการพัฒนาสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้รวดเร็วและมากชนิด
การป้องกันกำจัด
การใช้กับดักชนิดต่าง ๆ ได้แก่
กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เป็นกับดักทรงกระบอก หรือกระป๋องน้ำมันเครื่องทาด้วยกาวเหนียวสีเหลือง ทุก 7-10 วัน / ครั้ง สามารถจับผีเสื้อหนอนใยผักได้เฉลี่ย 16 ตัวต่อวันต่อกับดัก โดยจับผีเสื้อเพศเมีย : เพศผู้ได้ 0.79 : 1 และเมื่อติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง จำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
กับดักแสงไฟ หลอดสีน้ำเงิน 20 วัตต์ เป็นหลอดเรืองแสงที่เหมาะสมในการใช้จับผีเสื้อหนอนใยผักมากที่สุด มีราคาถูกกว่าหลอด blacklight-blue 20 วัตต์ และปลอดภัยไม่มีอันตรายจากแสงอุลตร้าไวโอเล็ตในการติดตั้งกับดักแสงไฟควรติดตั้งรอบนอกแปลงผัก และควรดำเนินการติดตั้งพร้อมกันในพื้นที่
การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง โดยการปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อนขนาด 16 เมช (256 ช่องต่อตารางนิ้ว) สามารถป้องกันการเข้าทำลายของหนอนใยผักและหนอนผีเสื้ออื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดอย่างมิดชิดตลอดเวลาเพื่อป้องกันผีเสื้อเพศเมียเล็ดลอดเข้าไปวางไข่
การใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เนื่องจากหนอนใยผักเป็นแมลงที่สามารถสร้างความต้านทาน ต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็วและหลายชนิด โดยเฉพาะในแหล่งปลูกการค้า เช่น บางแค ไทรน้อย บางบัวทอง เป็นต้น การพิจารณาเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพก็เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันกำจัดหนอนใยผักไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตกะหล่ำปลีให้เกิดความเสียหายได้ สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก ดังแสดงในตารางที่ 1
ด้วงหมัดผักแถบลาย (leaf eating beetle) ด้วงหมัดผักพบแพร่ระบาดอยู่โดยทั่ว ๆ ไปในธรรมชาติ พบ 2 ชนิด คือ ด้วงหมัดผักแถบลาย (P. sinuata) และด้วงหมัดผักสีน้ำเงิน (P. chontanica) ชนิดที่ สำคัญ คือ ด้วงหมัดผักแถบลาย ตัวอ่อนกัดกิน หรือชอนไชเข้าไปอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผัก ทำให้พืชผักเหี่ยวเฉาและไม่เจริญเติบโต ถ้ารากถูกทำลายมาก ๆ ก็อาจจะทำให้พืชผักตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูพรุน ด้วงหมัดผักช่วงอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดด และสามารถบินได้ไกล ๆ
วิธีเขตกรรม การลดการระบาดของด้วงหมัดผัก สามารถทำได้โดยการไถตากดินไว้เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน นอกจากนี้ควรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ด้วงหมัดผักไม่ชอบเป็นการช่วยลดการระบาดได้อีกทางหนึ่ง
การใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) อัตรา 4 ล้านตัวต่อพื้นที่20 ตารางเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นหรือราดทุก 7 วัน เพื่อฆ่าตัวอ่อนด้วงหมัดผักในดิน
การใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี หรือ โพรไทโอฟอส 50% อีซี/อัตรา 40 กรัม, 50 มล. และ 40 มล. / น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ ยังคงใช้ได้ผลดีในแหล่งปลูกผักใหม่ ๆ ที่มีการ ระบาดไม่รุนแรง ส่วนในแหล่งที่ปลูกผักเป็นประจำ ควรใช้สารกำจัดแมลงเช่น ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 50 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ อะเซตามิพริด 20% เอสพี อัตรา 20 กรัม / น้ำ 20 ลิตร จะให้ผลดีกว่า
ที่มา : รู้จริงเรื่องพืชกับกรมวิชาการเกษตร (การผลิตกะหล่ำปลี)
คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพกับกะหล่ำปลี
การใช้ดินเทพ
– ช่วงเตรียมดิน ยกร่อง เตรียมปลูก ใช้ดินเทพ 50 ซีซี ผสมน้ำ 60 ลิตร ฉีดพ่นในพื้นที่ 1ไร่ ก่อนปลูก
การใช้ไร่เทพ และโล่เขียว
– ระยะต้นกล้า(แตกใบอ่อน) ใช้โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะเจริญเติบโต ใช้โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะเข้าปลี ใช้โล่เขียว 200 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะก่อนเก็บเกี่ยว ใช้โล่เขียว 200 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน