Tag Archives: ดิน

ปลูกถั่วเหลือง ไรโซเบียมเอาอยู่!

      มีการวิจัยหนึ่ง จากนักวิชาการโรคพืช งานจุลินทรีย์ดิน กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 (เกือบ 50 ปีมาแล้ว) ที่จังหวัด ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งผลการทดลองนั้นปรากฏว่า การใส่เชื้อไรโซเบียมให้กับถั่วเหลืองอย่างเดียวสามารถทำให้ผลผลิตสูงเท่าๆกัน กับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียว และการใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันก็ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นของผลผลิตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ในบางพื้นที่ การใช้ไรโซเบียมอย่างเดียวนั้นกลับได้ผลผลิตเยอะกว่าอีกด้วย!

ใครอยากอ่านงานวิจัยอายุ 50 ปีนี้ ตามกันไปได้ที่ : การเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองโดยการใช้เชื้อไรโซเบียมและปุ๋ยไนโตรเจน นอกจากนี้ยังมีบทความเรื่อง การปลูกถั่วเหลือฝักสดหรือถั่วแระญี่ปุ่น ให้ไปศึกษากันเพิ่มอีกด้วย

บทความนี้ ฤทธิรอนขอนำเสนอ การเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงดินด้วยจุลินทรีย์ไรโซเบียมกันครับ

ไรโซเบียม คืออะไรและทำหน้าที่อะไร

ไรโซเบียมเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่าจุลินทรีย์ในดิน มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนลงสู่พื้นดินและเข้าไปอยู่ร่วมกับพืชตระกูลถั่วบริเวณรากของมัน จึงมักถูกเรียกว่า “จุลินทรีย์ปมรากถั่ว”

ขอบคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตร

การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่สูงเกินไปนั้น อาจทำให้เกิดการสูญเสียไนโตรเจนอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเกิดจากการชะล้างของฝน หรือ การเปลี่ยนกลายเป็นก๊าซไนโตรเจน ลอยกลับสู่อากาศ 

นอกจากนี้ แท้จริงแล้วไรโซเบียมไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไนโตรเจนและมันก็ยังคงสร้างปมรากได้ดีแม้ดินนั้นจะไม่ค่อยมีไนโตรเจนมากนัก แต่ที่สำคัญ คือมันทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการส่วนตัวของพืชตระกูลถั่ว ทันทีที่ถั่วต้องการไนโตรเจน เช่น ระยะเริ่มติดฝัก ไรโซเบียมก็จะจัดการตรึงไนโตรเจนส่งไปยังเมล็ดโดยตรงทันที! ซึ่งต่างจากไนโตรเจนที่ได้จากปุ๋ย มันจะถูกส่งไป”เปลี่ยนรูปแบบ” ที่ใบก่อน แล้วจึงค่อยส่งมาที่เมล็ด ดังนั้น เมื่อถั่วเหลืองมีปมอยู่ที่ราก ไรโซเบียมก็จะทำหน้าที่ของมัน ทำให้เมล็ดสมบูรณ์และผลผลิตสูง (นักวิจัยยังบอกว่า การใส่ปุ๋ยในช่วงแรก จะทำให้พืชเขียวจริง แต่ก็ไม่ได้การรันตีในเรื่องของผลผลิต)

ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น จึงไม่แนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนกับการปลูกถั่ว แต่แนะนำให้ใช้เชื้อไรโซเบียมแทน

ถั่วเหลืองฝักสด ปลูกทดแทนข้าวนาปรัง

ในขณะที่ดอกเบี้ย จากหนี้เก่าของค่าปุ๋ยจากการปลูกข้าวรอบที่แล้ว กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าข้าวที่ฉีดไร่เทพ ชาวนาก็ต้องมาปวดหัวอีกรอบว่า ข้าวนาปรังครั้งนี้เอายังไงดี ครั้นจะลงทุนปลูกข้าวอีกทีก็รู้สึกเข็ดขยาด ครั้นจะปล่อยทิ้งให้ที่นาว่างเปล่า ก็เสียโอกาสโดยใช่เหตุ อย่ากระนั้นเลย วันนี้ฤทธิรอน ของอาสาหาข้อมูลมาแบ่งบันกับพี่น้องชาวนา ให้หันมาปลูก ถั่วเหลืองฝักสดแทนการปลูกข้าวนาปรังกันครับ

เก็บเกี่ยวไว (สั้นกว่าเท่าตัว) ใช้น้ำน้อย (กว่า 5 เท่า)

ถั่วเหลืองฝักสด (ถั่วแระญี่ปุ่น) เป็นพืชอายุสั้น อายุการเก็บเกี่ยวเพียง 68-70 วัน ในขณะที่ข้าวนาปรังมีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ต่างกันเท่าตัว อีกทั้งยังเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย เพียง 300 ลบ.ม ต่อไร่ น้อยกว่าข้าวนาถึง 5 เท่า คือ 1500 ลบ.ม. เหมาะมากสำหรับช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

แก้ดินเสื่อม เสริมไนโตเจน

การทำนาอย่างต่อเนื่องโดยปีหนึ่ง 2-3 ครั้งนั้น ส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม การปลูกพืชหมุนเวียน จึงเป็นทางออก นอกจากนี้พืชตระกูลถั่วนั้นยังมีจุลินทรีย์ในปมราก (ไรโซเบียม) ช่วยตรึงไนโตเจนลงสู่พื้นดิน และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ยังสามารถไถ่กลบ กลายเป็นปุ๋ยพืชสด  ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินอีกด้วย

หากเกษตรกรท่านใดสนใจวิธีปลูกถั่วเหลืองฝักสดโดยละเอียดสามารถไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่:

เอกสารเผยแพร่ อันดับที่ 50 โดย ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน จังหวัดนครปฐม พิมพ์ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2538

http://eto.ku.ac.th/neweto/e-book/plant/rice/soybean.pdf

 

นอกจากนี้ยังสามารถ รับชมข้อมูลการปรับปรุงดินเพื่อการเพาะปลูกได้ตามลิ้งนี้

การปรับปรุงดินเพื่อการเพาะปลูก

การปรับปรุงดินเพื่อการเพาะปลูก

ดินในธรรมชาตินั้น กว่าซากพืชซากสัตว์จะสลายตัวได้หน้าดินซัก 1 เซนติเมตรนั้นใช้เวลานานหลายปี หน้าดินเหล่านั้นประกอบด้วยทั้งอินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้สมบูรณ์ แต่ทว่าความสมบูรณ์ของดินนั้นมันก็ค่อยๆหมดไป เพราะตั้งแต่ยุคปฏิวัติเกษตรกรรม มนุษย์เริ่มรู้จักการเพาะปลูกเป็นวงกกว้าง เราปลูกพืชและบริโภคพืชไว้เป็นอาหาร ธาตุบางอย่างในดินจึงเริ่มหมดไป ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพืชขาดธาตุอาหารบางอย่าง มันก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

ธาตุองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของพืชนั่นก็คือธาตุคาร์บอน ซึ่งมีที่มาจากกระบวนการสังเคราะห์แสงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนกลายเป็นแป้งน้ำตาล ลำต้นและองค์ประกอบอื่นๆของลำต้นพืช ทว่าในปัจจุบันมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น กระบวนการทางเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกเป็นภาวะโลกร้อน และทางเดียวที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ นั่นคือ ให้พืชดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากฟ้าลงสู่ดิน เราจำเป็นต้องปลูกพืชให้เยอะขึ้นแต่ปัญหาก็คือ “เราปลูกพืชได้ไม่ดี เนื่องจากดินไม่ดี” การปรับปรุงดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูกจึงเกิดขึ้นกระบวนการปรับปรุงดินที่สำคัญ คือการเพิ่มสารอินทรีย์ลงสู่ดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีตัวช่วยคือ “จุลินทรีย์” นั่นเอง

ปุ๋ยอินทรีย์จำแนกได้เป็น 4 ประเภท
1.ปุ๋ยพืชสด
ใช้ต้นพืชฝังกลบลงไปในดินโดยตรง โดยพืชบางชนิดมีแบคทีเรียบางตัวอยู่ในปมรากซึ่งสามารถช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศลงพื้นดินได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นไรโซเบียม ในพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
2. ปุ๋ยคอก
เกิดจากมูลสัตว์ที่ทับถมและย่อยสลาย ภายในระยะเวลาหนึ่ง เปรียบเสมือนกับสัตว์เป็นเครื่องบดทั้งเชิงกายภาพและเชิงเคมีทั้งยังมจุลินทรีย์ในระบบการย่อยอาหารของสัตว์เหล่านั้น ช่วยในการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์อีกด้วย
3. ปุ๋ยหมัก
เป็นการจำลองการย่อยอาหารของสัตว์ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายในปริมาณที่มากขึ้น มนุษย์นำซากพืชมาบดสับละเอียดโดยใช้เครื่องบด โรยจุลินทรีย์เข้าไป กลบและพลิก เพื่อให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการ จนกลายเป็นปุ๋ยในที่สุด
4. ปุ๋ยชีวภาพ
คือจุลินทรีย์ประเภทต่างๆ ในดิน เช่นจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน จุลินทรีย์กลุ่มปลดปล่อยฟอสเฟตเป็นต้น ทุกครั้งที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดิน พืชไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปใช้ได้ทั้งหมดจำเป็นต้องมีจุลินทรีย์เพื่อย่อยสลายธาตุบางอย่างให้อยู่ในรูปแบบที่พืชสามารถดูดซึมได้

องค์ประกอบของดินที่ดี
1. อากาศ 25%
ดิน ที่ดีควรมีสภาพร่วนซุยดังนั้นการพรวนดินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อทำให้ดินเกิดโพรงอากาศและพืชสามารถดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี
2. น้ำ 25%
นอกจากความร่วนซุยของดินแล้วดินที่ดีควรมีภาวะการอุ้มน้ำเพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของพืช
3. อนินทรีย์วัตถุ 45%
เกิดจากการย่อยสลายของหินกลายเป็นอนินทรีย์วัตถุขนาดเล็กลงหรือที่เราเรียกกันว่าเนื้อดินนั่นเอง
4. อินทรีย์วัตถุ 5%
แม้เป็นส่วนที่น้อยที่สุดแต่ว่าเป็นส่วนที่สำคัญเช่นกัน ในส่วนที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ทับถมกันเป็นเวลานานเราเรียกสิ่งนี้ว่าฮิวมัสนั่นเอง

สูตรปรับปรุงดิน

 

ส่วนผสมการปรับปรุงดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูก
1. เนื้อดิน 5 ส่วน ควรเลือกดินที่มาจากแหล่งที่ดี ไม่มีสารตกค้าง พวกโลหะหนัก ฯลฯ
2. กาบมะพร้าวสับ 3 ส่วน
3. แกลบ เผา 1 ส่วน
4. ปุ๋ยชีวภาพ 1 ส่วน
คลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้เป็น 7 วันก็จะสามารถนำไปใช้ปลูกพืชได้

นอกจากนี้ เพื่อทำให้ดินมีอินทรียวัตถุและถูกปลดปล่อยธาตุอาหารอันจำเป็นต่อพืชมากขึ้น อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มกรดฮิวมิค (Humic acid) อันเป็นสารจากธรรมชาติ ที่มีส่วนช่วยให้พืชที่ได้รับมีระบบรากที่ดี มีส่วนช่วยในการแตกราก สร้างรากใหม่ ทำให้พืชสามารถดูดอาหารทางดินได้ดีขึ้น  อีกทั้ง ฮิวมิค ยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของดิน เมื่อฉีดพ่นลงสู่ดินจะช่วยให้ดินสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย