กว่าจะเป็นสับปะรด
สับปะรดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ชาวอินเดียนพื้นเมืองเป็นผู้ค้นพบ และรู้จักสับปะรดมานานก่อนที่โคลัมบัสจะพบในปี ค.ศ. 1493 และชาวอินเดียนเผ่านี้เองที่เป็นผู้เผยแพร่สับปะรดไปสู่แหล่งอื่น ๆ เช่น บราซิล เวเนซูเอลา โคลัมเบีย ปานามา และหมู่เกาะแอตแลนติส การปลูกสับปะรดในประเทศไทยพบว่า ในช่วงปีค.ศ. 1680 – 1700 หรือประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีรายงานการพบสับปะรดในประเทศไทย ประเทศพม่า และแคว้นอัสสัม ถ้าในช่วงปี ค.ศ. 1680 -1700 จะตรงกับปี พ.ศ. 2223 – 2243 ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับ ประเทศไทยเป็นผู้นำสับปะรดเข้ามา สับปะรดในยุคนั้นเป็นพันธุ์อินทรชิตหรือ พันธุ์ในกลุ่ม Spanish ซึ่งมีการปลูกกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไป ส่วนสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากในปัจจุบันและมากกว่าร้อยละ 80 ปลูกเพื่อส่งโรงงาน แหล่งปลูกใหญ่อยู่ในภาคตะวันตก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี โดยเชื่อกันว่ามีผู้นำพันธุ์เข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย และปลูกที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนแหล่งปลูกในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง เชื่อว่ามีผู้นำพันธุ์มาจากประเทศอินเดียและนำไปปลูกไว้ที่อำเภอศรีราชา สับปะรดที่ปลูกทั้งสองแหล่งนี้มีรสชาติเป็น ที่ชื่นชอบของผู้บริโภคจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามสับปะรดปราณบุรี และสับปะรดศรีราชา
สับปะรดผลไม้ส่งออกอันดับที่ 6 ของไทยในแง่มูลค่า อันดับที่ 2 ในแง่ปริมาณ ผลไม้สดและแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของไทย โดยระหว่างเดือนมกราคม ถึงตุลาคมปี 2022 การส่งออกผลไม้ทั้งแบบสด แห้ง และแช่แข็ง ทำรายได้ให้ไทยถึง 1.68 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.02 % ของสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยมี ‘ทุเรียน’ ครองแชมป์ผลไม้ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดของไทยทั้งในแบบสดและแช่แข็ง ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกสร้างรายได้ทั้งหมด 1.04 แสนล้านบาท สถิติข้างต้นเป็นตัวพิสูจน์ได้อย่างดีว่า สับปะรดเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญอย่างมาก กับเศรษฐกิจของไทยในฐานะครัวโลก สถานการณ์การเพาะปลูกและผลผลิตสับปะรดในปี 65 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.772 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลก และระยอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมา 0.39%, 2.68% และ 2.27% ตามลำดับ ทางด้านราคาตั้งแต่ปี 63 ถึงต้นปี 64 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น การเพาะปลูกและผลผลิตสับปะรดในปี 65 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.772 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลก และระยอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมา 0.39%, 2.68% และ 2.27% ตามลำดับ ทางด้านราคาตั้งแต่ปี 63 ถึงต้นปี 64 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น
สับปะรดพันธุ์ต่าง ๆ ในแต่ละกลุ่มพันธุ์ ยึดเกณฑ์มาตรฐานของ IBPGR (1991) สามารถจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มพันธุ์ คือ 1. กลุ่ม Smooth cayenne มี 3 พันธุ์ / สายพันธุ์ คือ ปัตตาเวีย นางแล ลักกะตา 2. กลุ่ม Queen มี 5 พันธุ์ / สายพันธุ์ คือ ตราดสีทอง ภูเก็ต สวี ปัตตานี และสิงคโปร์ปัตตาเวีย 3. กลุ่ม Spanish มี 2 พันธุ์ / สายพันธุ์ คือ อินทรชิตแดง อินทรชิตขาว
ลักษณะสำคัญของสับปะรดแต่ละกลุ่ม
- กลุ่ม Smooth cayenne พันธุ์สับปะรดกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่นิยมปลูกมากที่สุด ทั้งเพื่อใช้บริโภคสดและใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง พันธุ์สับปะรดในกลุ่มนี้ผลมีขนาดประมาณ 1.0 – 2.5 กิโลกรัม รูปร่างค่อนข้างเป็น ทรงกระบอก เนื้อมีสีเหลือง มีเยื่อใย (fiber) ซึ่งพันธุ์สับปะรดในกลุ่ม Smooth cayenne ในประเทศไทยคือ พันธุ์ปัตตาเวีย นางแล ลักกะตา น้ำผึ้ง และโนห์รา โดยพันธุ์ที่สำคัญในอุตสาหกรรมแปรรูปของไทยคือ พันธุ์ปัตตาเวีย พันธุ์นี้จะมีใบสีเขียวเข้มและมีสีม่วงแดงอมน้ำตาลปนอยู่บริเวณกลางใบ ผลจะมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ ด้านคุณภาพผล เนื้อมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว
- กลุ่ม Queen สับปะรดกลุ่ม Queen มีขนาดของต้นและผลเล็กกว่า กลุ่ม smooth cayenne ขอบใบมีหนามเรียงชิดติดกันตลอดความยาวใบ น้ำหนักผล ประมาณ 1.0 กิโลกรัม รูปร่างทรงกระบอกตาค่อนข้างนูน เปลือกหนา เนื้อมีสีเหลือง เข้มและกรอบ รสชาติหวาน มีเยื่อใยน้อยและมีกลิ่นหอม แกนผลอ่อนนุ่มกว่า พันธุ์ปัตตาเวีย สับปะรดกลุ่มนี้ในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์ภูเก็ต (จังหวัดเชียงราย เรียกว่า พันธุ์ภูแล) พันธุ์สวี พันธุ์ตราดสีทอง พันธุ์ปัตตานีและพันธุ์สิงคโปร์ปัตตาเวีย
- กลุ่ม Spanish สับปะรดกลุ่ม Spanish มีขนาดของต้นและผลอยู่ ระหว่างกลางของกลุ่ม Smooth cayenne และกลุ่ม Queen ขอบใบมีหนามแหลม 27 รูปโค้งงอ ผลมีรูปร่างกลม น้ำหนักผล 1.0 – 1.5 กิโลกรัม ตานูน ขนาดของตาใหญ่กว่า กลุ่ม Smooth cayenne เนื้อสีเหลืองจาง มีเยื่อใยมาก แกนผลเหนียว กลิ่นและ รสชาติแตกต่างจาก 2 กลุ่มแ รก รสชาติเปรี้ยว พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์อินทรชิตแดง และพันธุ์อินทรชิตขาว
การขยายพันธุ์
สับปะรดนิยมขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้น และส่วนบนผลและก้านผล ส่วนที่นิยมใช้ในการขยายพันธุ์ได้แก่ หน่อ รองมาคือ จุก และตะเกียง
หน่อ (sucker) เป็นส่วนที่นิยมนำมาใช้ในการขยายพันธุ์ การปลูกควรมี การคัดหน่อ โดยปลูกหน่อที่มีขนาดใกล้เคียงกันในแปลงเดียวกัน
จุก (crown) ส่วนบนสุดของผล เป็นส่วนที่นิยมนำมาใช้ในการขยายพันธุ์ เช่นกัน การปลูกจากจุกจะได้ต้นสับปะรดที่มีขนาดสม่ำเสมอกัน แต่จะใช้เวลาตั้งแต่ ปลูก – ออกดอก และเก็บเกี่ยวนานกว่าการปลูกด้วยหน่อ
ตะเกียง (slip) คือหน่อที่เกิดจากตาที่อยู่บนก้านผลซึ่งมีลักษณะเป็นต้น สับปะรดเล็ก ๆ คล้ายหน่อสับปะรดสามารถนำมาใช้ขยายพันธุ์ได้เช่นกัน แต่ไม่นิยมใช้
การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ตามปกติการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะใช้ในกรณีที่ได้ พันธุ์ใหม่และมีต้นพันธุ์จำนวนน้อย และต้องการเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ให้ได้ในปริมาณ มากในระยะเวลาที่รวดเร็ว หรือใช้ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องโรคเหี่ยวที่ติดไปกับ ส่วนขยายพันธุ์และต้องการผลิตต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค เช่น การผลิตต้นพันธุ์สับปะรด ปัตตาเวียปลอดโรคเหี่ยว การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์สับปะรดด้วยการเพาะเมล็ดนั้นส่วนใหญ่จะทำเพื่อ การปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ โดยทำการคัดเลือกพ่อและแม่พันธุ์ ที่มีลักษณะตามที่ต้องการ เมื่อต้นมีอายุเหมาะสมจึงบังคับให้ออกดอก และทำการผสมพันธุ์ หลังจากผสมเกสรประมาณ 5 – 6 เดือน ผลจะแก่ทำการเก็บเกี่ยวแล้ว ผ่าผลแกะนำเมล็ดออกซึ่งเมล็ดจะอยู่ภายในรังไข่
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษา
สับปะรดเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ แต่ปัจจัยสภาพแวดล้อมมีผลต่อ การเจริญเติบโต การให้ผลผลิตและคุณภาพของสับปะรด โดยปัจจัยต่าง ๆ มีดังนี้
1) ระดับความสูงของพื้นที่ สับปะรดสามารถปลูกได้ตั้งแต่ที่ความสูงระดับน้ำทะเลขึ้นไป จนถึงระดับ 1,200 เมตร แต่ถ้าจะปลูกเป็นการค้าควรอยู่ในระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตร เพราะถ้าระดับพื้นที่ยิ่งสูงขึ้นจะทำให้อุณหภูมิลดลงและมีผลต่อ การเจริญเติบโตและคุณภาพของสับปะรด
2) แสงแดด สับปะรดเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดตลอดวันและพบว่า การลดปริมาณ แสงแดดลง 20 เปอร์เซ็นต์ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง 10 เปอร์เซ็นต์
3) อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการปลูกสับปะรดช่วง 24-30 องศาเซลเซียส ตามปกติแล้วการเจริญเติบโตของสับปะรดจะหยุดชะงักเมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ซึ่งแหล่งผลิตสับปะรดเป็นการค้าของโลกส่วนใหญ่จะอยู่ตาม แนวพื้นที่ชายทะเลหรือมหาสมุทร หรือตามพื้นที่เกาะต่าง ๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ของอุณหภูมิและความชื้นน้อยกว่าพื้นที่ระดับเดียวกันที่อยู่ภายในของทวีป ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกสับปะรดของประเทศไทยส่วนมากอยู่ในเขตจังหวัด ชายทะเล เช่น จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี และ ระยอง เป็นต้น
4) ปริมาณน้ำฝน แม้สับปะรดเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่า สับปะรดไม่ต้องการน้ำ ส่วนใหญ่การปลูกสับปะรดของไทยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ดังนั้นถ้าปริมาณน้ำฝนมีความสม่ำเสมอหรือค่อนข้างสม่ำเสมอและกระจายตลอดปี จะทำให้สับปะรดมีการเจริญเติบโตดี เนื่องจากไม่มีช่วงหยุดชะงักการเจริญเติบโต การขาดน้ำอย่างรุนแรงมีผลต่อผลผลิต คือ จะทำให้ขนาดผลลดลง ดังนั้น การเลือก แหล่งปลูกสับปะรดให้ได้ผลดีควรเลือกที่ที่มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000 – 1,500 มิลลิเมตร / ปี และมีการกระจายของฝนสม่ำเสมอหรือค่อนข้างสม่ำเสมอ
5) สภาพดิน สับปะรดเป็นพืชที่ไม่เลือกชนิดของดินมากนัก แต่ดินปลูกที่เป็นดินเนื้อหยาบ เช่น ดินทรายชายทะเลมักมีการระบายน้ำดีเหมาะกว่าดินที่มีเนื้อละเอียด เช่น ดินเหนียวซึ่งระบายน้ำได้ยาก และจะเกิดปัญหาเรื่องโรคติดตามมา ดินปลูกควร เป็นดินร่วน หรือร่วนปนทราย ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ความลาดเอียง 1 – 2 เปอร์เซ็นต์การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 4.5 – 5.5 สับปะรดไม่ชอบดินที่มี pH สูงเกินกว่า 7.0 ดังจะเห็นได้ว่าหากพื้นที่ปลูก ใดมีสภาพเป็นจอมปลวกเก่าอยู่มาก สับปะรดจะมีใบเหลือง ซีด อ่อนแอ ง่ายแก่ การถูกทำลายโดยโรครากเน่าและโคนเน่า ทั้งนี้เนื่องจากขาดธาตุเหล็กในรูป ที่ใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง ในด้านสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อ การเจริญเติบโตของสับปะรดระหว่าง 24 – 30 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝน กระจายสม่ำเสมอระหว่าง 1,000 – 1,500 มิลลิเมตร / ปี
ฤดูปลูกสับปะรด
การปลูกสับปะรดในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดปี ยกเว้นช่วง ที่มีฝนตกหนักเท่านั้นที่ไม่นิยมปลูกเนื่องจากมักมีโรครากเน่ายอดเน่าระบาดทำลาย และการเตรียมแปลงกระทำได้ลำบาก โดยทั่วไปเกษตรกรมักนิยมปลูก ตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกไม่มี ฝนตกชุก ไม่มีปัญหาเรื่องโรครากเน่ายอดเน่า นอกจากนั้นแล้วการปลูกสับปะรด ในช่วงนี้สามารถใช้จุกปลูกได้ดี
การเตรียมพันธุ์ปลูก
วัสดุปลูกที่นิยมใช้ มี 2 แบบ คือ หน่อ และจุก การปลูกด้วยหน่อ ควรมี
การคัดขนาดหน่อ หน่อขนาดเดียวกันควรปลูกในแปลงเดียวกัน เพื่อให้ ต้นเจริญเติบโตสม่ำเสมอ สามารถบังคับดอกและเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน นอกจากนี้ การคัดขนาดวัสดุปลูกสามารถช่วยกระจายผลผลิตสับปะรดได้ เนื่องจากวัสดุปลูกที่มี ขนาดแตกต่างกัน จะมีการเจริญเติบโตไม่พร้อมกัน เมื่อนำมาปลูกพร้อม ๆ กัน จะทำให้การบังคับดอกและเก็บเกี่ยวได้ไม่พร๎อมกัน หน่อที่ใช้ปลูกมี 3 ขนาด
1) หน่อขนาดเล็ก น้ำหนัก 300 – 500 กรัม ความยาว 30 – 50 เซนติเมตร
2) หน่อขนาดกลาง น้ำหนัก 500 -700 กรัม ความยาว 50-70 เซนติเมตร
3) หน่อขนาดใหญ่ น้ำหนัก 700-900 กรัม ความยาว 70-90 เซนติเมตร
รอบการปลูกสับปะรด สับปะรดเป็นพืชที่มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนานประมาณ 15 – 18 เดือน และหลังจากเก็บเกี่ยวผลจากต้นที่ปลูกครั้งแรก (plant crop) สามารถไว้หน่อ และเก็บผลผลิตได้อีก 1 – 2 รุ่น (First and Second ratoon crop) ซึ่งช่วงระยะ เวลาตั้งแต่การปลูกครั้งแรกจนถึงเก็บเกี่ยวหน่อรุ่นสุดท้ายและเตรียมการปลูกครั้งต่อไป ในพื้นที่เดิมเรียกว่า รอบการปลูก (crop cycle) มี 2 แบบ
- รอบการปลูก 4 ปี ไว้หน่อครั้งเดียว โดยจะเก็บผล 2 รุ่น คือ ผลจาก ต้นแม่ (plant crop) และเก็บผลจากหน่อรุ่นแรก (first ratoon crop)
- รอบการปลูก 5 ปี ไว้หน่อ 2 รุ่น และสามารถเก็บผลผลิตได้ 3 รุ่น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเกษตรกรภาคตะวันออกบางส่วนนิยมปลูก และเก็บเกี่ยวรุ่นแม่ (plant crop) เพียงรุ่นเดียวแล้วรื้อแปลงปลูกใหม่ ซึ่งมีข้อดี คือต้นเจริญสม่ำเสมอ ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมแปลงอีกครั้ง
การเตรียมแปลงปลูก
การเตรียมแปลงปลูก เนื่องจากรอบของการปลูกสับปะรดใช้เวลานาน 4-5 ปี จึงต้องมีการเตรียมดินอย่างดี เพื่อให้ต้นสับปะรดมีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอให้ผลผลิตสูง พื้นที่ ๆเคยปลูกสับปะรดให้ไถสับใบและต้น (กรณีที่ไม่มี โรคเหี่ยวระบาด) ทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 เดือน แล้วไถกลบอีกครั้ง ในพื้นที่ ๆ มีดินดาน อยู่ใต้ผิวหน้าดิน ให้ไถทำลายดินดาน และควรมีการวิเคราะห์ดินก่อนปลูกและปฏิบัติ ตามคำแนะนำโดยเฉพาะการจัดการอินทรียวัตถุในดิน
การปลูกต้องเลือกจำนวนต้นปลูกต่อไร่ที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นกับวัตถุประสงค์การปลูก ว่าจะปลูกเพื่อขายผลสดหรือปลูกเพื่อส่งโรงงาน ถ้าปลูกเพื่อส่งโรงงานและปลูก จำนวนต้น / ไร่น้อย เช่น 4,000 – 5,000 ต้น / ไร่ จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ควรปลูก 8,000 – 10,000 ต้น / ไร่ ได้ผลผลิต / ไร่สูงกว่าและมีขนาดผลเหมาะสมตามที่โรงงานต้องการ
วิธีการปลูกและระยะปลูก
การปลูกสับปะรดเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรด กระป๋องจะปลูกในระบบร่องแถวคู่ (double row bed) ระยะปลูก 30x50x(60-90) เซนติเมตร ปลูกได้ประมาณ 8,000 หน่อ / ไร่ และควรชุบหน่อก่อนปลูกด้วย สารป้องกันโรครากเน่าหรือต้นเน่า โดยเฉพาะการปลูกช่วงกลางฤดูฝน ส่วนการปลูกสับปะรดในกลุ่ม Queen เช่น พันธุ์ตราดสีทอง พันธุ์สวี หรือพันธุ์ภูเก็ต นิยมปลูก แบบแถวเดี่ยวระยะปลูกระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 80 – 100 เซนติเมตร ปลูกได้ 5,000- 6,000 หน่อ / ไร่สำหรับการปลูกสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง ในพื้นที่จังหวัดตราด ส่วนใหญ่จะปลูกในสภาพกลางแจ้ง
การปฏิบัติดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ย เนื่องจากพื้นที่ปลูกสับปะรดส่วนใหญ่สภาพดินเป็นดินทราย ดินร่วนปนทรายหรือดินทรายที่มีการระบายน้ำดีทำให้มีการสูญเสียธาตุอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของดินค่อนข้างเร็ว โดยสูญเสียไปกับน้ำที่ชะล้างหน้าดิน หรือน้ำที่ซึมลงไปในดินเกินกว่าระดับความลึกของระบบรากพืช นอกจากการสูญเสีย ธาตุอาหารไปกับน้ำแล้ว ธาตุอาหารอีกจำนวนหนึ่งจะถูกนำออกไปจากพื้นที่ โดยติดไปกับผลผลิตและหน่อสับปะรด การเจริญเติบโตและผลผลิตของสับปะรดจะตอบสนองต่อธาตุไนโตรเจนมากที่สุด รองลงมาคือ โพแทสเซียม ปริมาณไนโตรเจน ที่ให้กับสับปะรดจะเป็นตัวกำหนดปริมาณของโพแทสเซียม ซึ่งควรจะสมดุลกันด้วย ส่วนธาตุอาหารรองที่สับปะรดต้องการและมีการตอบสนองต่อการเพิ่มแมกนีเซียม ในพื้นที่ ๆใช้ปลูกสับปะรดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มักพบว่าสับปะรดได้รับธาตุอาหารเสริม (micronutrient) หลายธาตุไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่น เหล็ก สังกะสี และ ทองแดง รวมทั้งโบรอน
การพ่นปุ๋ยทางใบสับปะรด ส่วนใหญ่ทำเมื่อพืชได้รับธาตุอาหาร ไม่เพียงพอทั้งในช่วงต้นเล็กเริ่มให้หลังจากปลูกประมาณ 1 – 2 เดือน โดยดูจาก สภาพต้น ให้ปุ๋ยทั้งหมด 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 เดือน ส่วนการพ่นปุ๋ยสับปะรด ในแปลงต้นใหญ่ในแปลงใหม่ที่พ่นปุ๋ยต้นเล็กครบ 4 ครั้ง แล้วให้พ่นปุ๋ยต่ออีก เดือนละครั้ง จนถึงกำหนดการให้สารเคมีบังคับดอก จึงหยุดการพ่นปุ๋ย ส่วนใน แปลงเก่าที่เลี้ยงหน่อ เมื่อเก็บผลผลิตแล้วประมาณ 2 เดือน ให้พ่นปุ๋ยต่ออีก เดือนละครั้งจนถึงกำหนดการให้สารเคมีบังคับดอก จึงหยุดการพ่นปุ๋ย
การตกค้างของไนเตรท เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน มากเกินไปหรือใส่ไม่ถูกช่วงเวลา หรืออาจเกิดจากพืชไม่สามารถทำลายไนเตรทได้เอง ตามปกติเนื่องจากความบกพร่องของเอนไซม์ไนเตรทรีดัคเตส (nitrate reductase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่เปลี่ยนไนเตรทให้อยู่ในรูปอื่น โดยเอนไซม์ไนเตรทรีดัคเตสมีโมลิบดินัมเป็นองค์ประกอบสำคัญ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ เช่น การดูดสารไนเตรทขึ้นไปมากในช่วงหลังฝนตก ความเข้มแสงน้อย และขาดธาตุอาหารเสริมบางชนิด รวมทั้งการปฏิบัติบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแคะจุกหรือเดาะจุก
การแก้ไขปัญหาการตกค้างของไนเตรท กรมวิชาการเกษตร (2545) ได้มีคำแนะนำให้เกษตรกรแก้ไขปัญหาการตกค้างของไนเตรท โดยห้ามใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนหลังการบังคับดอกห้ามทำลายจุก และแหล่งที่พบไนเตรทตกค้างสูงใช้โมลิบดินัม 100 กรัม / ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังออกดอก 2.5 และ 4.5 เดือน หรือใช้โพแทสเซียมคลอไรด์ 70 กิโลกรัม / ไร่ หลังออกดอก 2.5 เดือน
การให้น้ำ
ตามปกติการปลูกสับปะรดจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ในฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีความชื้นต่ำมาก ทำให้สับปะรดขาดน้ำ สับปะรดจะชะงักการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะการขยายขนาด ของผล สับปะรดที่ขาดน้ำจะมีผลทำให้เจริญเติบโตช้า สับปะรดที่ขาดน้ำจะมีการเจริญเติบโต การออกดอกและการติดผล ไม่ดี ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่ำ ขนาดของผลไม่ได้มาตรฐาน และไม่ได้คุณภาพ แม้สับปะรดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยแต่ก็ยังมีความไวต่อการขาดน้ำโดยเฉพาะช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและใบ (Vegetative) ทำให้กระทบต่อผลผลิต และคุณภาพของผลผลิต ในช่วงที่ สับปะรดออกดอกหากขาดน้ำจะไม่กระทบกระเทือนมากนัก อาจจะเร่งให้ผลสุกเร็วขึ้นหรือแก่พร้อมกัน ขณะที่สับปะรด ออกดอกการให้น้ำมากจะทำให้ก้านใหญ่และแกนผลใหญ่ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการทำ สับปะรดกระป๋อง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการให้น้ำตามความต้องการของสับปะรด
การบังคับดอก
ตามปกติสับปะรดจะออกดอกเองตามธรรมชาติในช่วงที่ได้รับอากาศเย็น หรือในช่วงฤดูหนาว แต่ในการปลูกสับปะรดเป็นการค้าจะมีการจัดการให้สับปะรด ออกดอกพร้อมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแปลงและการจัดการ ผลผลิตเพื่อเข้าสู่โรงงานได้ตามแผน สารเคมีที่ใช้ในการบังคับดอก 2 ชนิด คือ แคลเซียมคาร์ไบด์(Calcium carbide : CaC2 ) หรืออะเซทธิลีน (acelylene : C2H2 ) และ เอทธีฟอน (ethephon; 2-chloroethyl phosphonic acid) ซึ่งต้นสับปะรดที่พร้อมสำหรับการบังคับดอก ควรมีลักษณะ ดังนี้
1) มีน้ำหนักต้นและใบ (ไม่รวมราก) ประมาณ 2.5 – 2.8 กิโลกรัม หรือ มีใบ 45 ใบขึ้น (สับปะรดรุ่นแม่)และน้ำหนักประมาณ 1.8 – 2.0 กิโลกรัม (สับปะรดตอ)
2) ลักษณะโคนต้นอวบใหญ่ ใบกว้าง หนา สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมม่วงแดง
3) อายุประมาณ 7 – 9 เดือน เมื่อปลูกด้วยหน่อ หรือ 10 – 12 เดือน เมื่อปลูกด้วยจุก
การจัดการศัตรูพืชของสับปะรด
สับปะรดจัดเป็นพืชที่มีศัตรูพืชไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม มีโรคและแมลง ที่สำคัญที่เป็นปัญหาในการผลิตสับปะรด เช่น โรคเหี่ยว โรคยอดเน่า และยอดล้ม โรครากเน่าและต้นเน่า รวมทั้งโรคผลแกน ส่วนปัญหาแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยแป้งและมด ซึ่งสาเหตุของโรคเหี่ยวสับปะรด (pineapple mealybug wilt associated virus; PMWaVs) ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคเอ๋อ” เป็นปัญหาสำคัญของการปลูกสับปะรดในปัจจุบัน การแพร่กระจายของโรคเกิดจาก การนำหน่อหรือจุกจากต้นที่เป็นโรคไปปลูก ซึ่งมีเพลี้ยแป้งเป็นพาหะนำโรค และมดเป็นตัวแพร่กระจายเพลี้ยแป้ง ซึ่งโรคเหี่ยวในสับปะรดมีการแพร่ระบาดทุกแหล่งปลูก สับปะรดที่สำคัญของประเทศ เช่น จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง ชลบุรี อุทัยธานี พัทลุง เป็นต้น การแพร่ระบาดโรคเหี่ยวสับปะรด จะมีการระบาดอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะ มีการแพร่ระบาดของแมลงพาหะ คือ เพลี้ยแป้งที่มีนิสัยการดูดกินน้ำเลี้ยงจาก ต้นสับปะรดที่เป็นโรคเหี่ยวและแพร่สู่ต้นปกติในรูปแบบการกระจายตัวแบบวงกลม มีการขยายจากจุดกลาง (ต้นเกิดโรค) แล้วค่อยๆ ลุกลามไปเรื่อย ๆ โดยมีมดเป็น ตัวการนำเพลี้ยแป้งสู่ต้นอื่น ๆ เพลี้ยแป้งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส สู่ต้นสับปะรดในขณะดูดกินน้ำเลี้ยงผ่าน ทางท่ออาหาร (phloem) และเชื้อไวรัสจะเข้าพักตัวในต้นสับปะรด และจะแสดง อาการเมื่อต้นอ่อนแอ และสภาพแวดล้อมเหมาะสม เพลี้ยแป้งที่นำโรคเหี่ยว มี 2 ชนิด คือ 1. เพลี้ยแป้งสับปะรดสีชมพู Dysmicoccus brevipes (Cockerell) มักพบเสมอบริเวณส่วนล่างของพืชอาศัย เช่นราก บริเวณโคนของหน่อ 2. เพลี้ยแป้งสับปะรดสีเทา Dysmicoccus neobrevipes (Beardsley) มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ส่วนบนของพืชอาศัย เช่น ใบ ลำต้น ดอก และผล
วัชพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
ปัจจุบันการปลูกสับปะรดของเกษตรกรประสบปัญหาด้านการจัดการวัชพืช เนื่องจากการใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้วัชพืชสามารถปรับตัวได้ ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตสับปะรด วัชพืชเป็นตัวแย่งปัจจัยการเจริญเติบโตและเป็นที่อาศัยของแมลงศัตรูพืช เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้าในระยะแรก จึงเป็นพืชที่มีศักยภาพด้อยในการแข่งขันกับวัชพืช จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชในช่วงเวลาดังกล่าว หากไม่กำจัดวัชพืชจะทำให้สูญเสียผลผลิตประมาณ 64.3 – 80.8 เปอร์เซ็นต์ โดยวัชพืชใบกว้างและเถาเลื้อย ทำให้การเจริญเติบโตของสับปะรดลดลง 19.8 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเสียหาย 55.8 เปอร์เซ็นต์ ความสูญเสียผลผลิตขึ้นกับชนิดวัชพืช ความหนาแน่น และองค์ประกอบสิ่งแวดล้อม เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้น ปริมาณฝน หากปัจจัยเพื่อการเจริญเติบโตของพืชมีความเหมาะสมมาก ย่อมมีผลดีต่อ การเจริญเติบโตของวัชพืช ช่วงเวลาการแข่งขันของวัชพืชไม่ควรเกิน 2 เดือนแรก และช่วงเวลาปลอดวัชพืช คือ 4 เดือนแรก จึงจะไม่เกิดความสูญเสียผลผลิตถึงระดับเศรษฐกิจ
การป้องกันกำจัดวัชพืชในการปลูกสับปะรด ทำได้หลายวิธี แต่ละวิธี ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้แตกต่างกันแล้วแต่ความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ และความพร้อมของผู้ปฏิบัติ ที่จะเลือกใช้วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะนำหลาย วิธีมาประยุกต์ใช้ร่วมกันตามความเหมาะสม โดยวิธีการป้องกันกำจัดวัชพืชสามารถ แยกออกเป็น 2 วิธีการ คือ
- การป้องกันกำจัดวัชพืชโดยไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช อาทิเช่น การไถ เตรียมดิน การใช้แรงงานคนหรือเครื่องมือกล และการใช้วัสดุคลุมดิน เป็นต้น 2. การป้องกันกำจัดวัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช การใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นวิธีการกำจัดวัชพืชที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง สามารถช่วยประหยัดแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต กำจัดวัชพืชได้ทันเวลาการแข่งขันของวัชพืชกับพืชปลูก ถ้าสามารถเลือกใช้สารกำจัดวัชพืชได้อย่างถูกต้อง ใช้อย่างถูกวิธี ไม่เกิดผลเสีย ต่อพืชปลูก และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ดังนั้น ผู้ที่จะใช้สารกำจัดวัชพืชต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการใช้สารกำจัดวัชพืชให้ถูกต้อง จึงจะได้ประโยชน์ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืช มีผลต่อการให้ผลผลิตของพืชปลูกได้เต็มที่
การแบ่งชนิดของสารกำจัดวัชพืช
แบ่งตามอายุหรือขนาดของวัชพืช หรือพืชปลูก เพื่อควบคุมวัชพืชในช่วงระยะเวลาที่ต้องการ ตามคุณสมบัติ การเข้าทำลาย การเลือกทำลาย การทำลายในพืชของสารนั้น ๆ สามารถแบ่งได้ คือ
- สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก เป็นสารกำจัดวัชพืชที่ต้องพ่นก่อน เมล็ดวัชพืชหรือก่อนวัชพืชโผล่พ้นผิวดิน จะเป็นสารชนิดที่เคลื่อนย้ายในพืช โดยเข้าทางยอดอ่อน หรือรากอ่อนของวัชพืช การใช้สารประเภทนี้ดินควรมีความชื้น พอที่จะให้เมล็ดวัชพืชงอกขึ้นมา เพื่อส่วนยอดของต้นหรือรากได้รับสาร
- สารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก เป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้พ่นไปบน ต้นวัชพืช อาจเป็นสารชนิดเลือกทำลาย หรือเป็นสารชนิดไม่เลือกทำลาย เพราะฉะนั้นการที่จะเลือกใช้สารชนิดนี้จะต้องใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะการใช้ผิดชนิด ผิดวิธี อาจเป็นอันตรายต่อพืชปลูกได้ นอกจากนี้สารกำจัด วัชพืชชนิดนี้ยังแบํงออกเป็นชนิดย่อย ๆ ตามระยะเวลาการพ่นได้ คือ
2.1 ชนิดพ่นระยะวัชพืชยังเป็นต้นอ่อน เป็นสารที่กำหนดให้ใช้กับพืช ในอัตราที่แนะนำในช่วงที่วัชพืชยังเล็ก เช่น ระยะวัชพืชมี 3 – 5 ใบ จะสามารถควบคุมวัชพืชชนิดนั้น ๆ ได้ และอาจเป็นสารประเภทเลือกทำลาย
2.2 ชนิดพ่นระยะวัชพืชโตแล้ว เป็นสารที่ใช้พ่นกำจัดวัชพืชในช่วงที่ วัชพืชโตแล้วแต่ไม่ควรเกินระยะออกดอก หรืออาจใช้ก่อนปลูกพืช
การเก็บเกี่ยวสับปะรด มี 2 แบบ คือ
- การเก็บเกี่ยวสับปะรดเพื่อส่งโรงงาน ต้องเก็บผลสุก (เบอร์1 – 4) คือ เปลือกมีสีเหลืองจางๆ ประมาณ 1 – 2 ตา ถึงเปลือกสีเหลืองประมาณครึ่งผล ถึง 3/4 ของผลหรือประมาณ 4 – 6 ตา ไม่ควรเก็บผลสับปะรดที่อ่อนเกินไป เพราะคุณภาพจะไม่ดี เนื้อสีขาว ไม่สามารถผลิตสับปะรดเกรดสูงได้ การเก็บเกี่ยวผลสับปะรดส่งโรงงานจะหักจุกและก้านผลออก วิธีการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร รายย่อยส่วนใหญ่จะใช้คนงานหักสับปะรดในแปลง แล้วใส่ภาชนะบรรจุ แบกมาขึ้น รถบรรทุก สำหรับการเก็บเกี่ยวของเอกชนรายใหญ่ จะมีรถยนต์ ที่มีแขน (boom) ยาว 16 เมตร ค่อยเคลื่อนไปตามถนนข้างแปลง คนงานจะเลือก สับปะรดที่ได้อายุเก็บเกี่ยว หักก้านและจุกออกแล้ววางบนสายพานที่พาดไป ตามแขน (boom) สายพานจะลำเลียงผลสับปะรดมารวบรวมนำขึ้นรถบรรทุก เพื่อส่งโรงงานต่อไป
การเก็บเกี่ยวสับปะรดเพื่อจำหน่ายผลสด
2.1) ตลาดภายในประเทศ สับปะรดผลสดที่ใช้บริโภคภายในประเทศควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลสับปะรดมีความสุกตาเหลืองไม่น้อยกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ (เบอร์4 – 5) การเก็บเกี่ยวต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผลช้ำ การตัดต้องใช้มีดคมตัดให้เหลือก้านยาวติดผลประมาณ 10.0 เซนติเมตร ขึ้นไป ไม่ต้องหัก จุกออก หลังจากตัดผลสับปะรดแล้วใสํภาชนะบรรจุ ลำเลียงใส่รถบรรทุกขนส่ง การจัดเรียงบนรถบรรทุกขนส่งให้เรียงผลสับปะรด ให้เป็นระเบียบ โดยเอาส่วนจุกลง ด้านล่าง และวางซ้อนขึ้นมาเป็นชั้น ๆ
2.2) ตลาดต่างประเทศ การเก็บเกี่ยวสับปะรดเพื่อส่งจำหน่าย ต่างประเทศ ผลสับปะรดควรมีอายุการเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่จะเก็บผลแก่เขียว (เบอร์ 0) ตาทุกตามีสีเขียวไม่มีสีเหลือง ซึ่งอาจดูได้จากการลอยน้ำ ผลจะลอยขนานกับน้ำ และผลสับปะรดจะต้องมีน้ำหนักตามที่ตลาดรับซื้อต้องการ จุกตรง ไม่มีโรคแมลงติดไปกับผล การขนส่งสับปะรดมายังโรงคัดบรรจุ จะต้อง ระมัดระวังไม่ให้ผลชอกช้ำ และไม่เรียงซ้อนทับกันมากชั้นเกินไป ควรมีไม้แบ่งแยก ชั้นบ้างเพื่อไม่ให้ผลด้านล่างรับน้ำหนักมากเกินไป การจัดเรียงจะเรียงตามนอน และสลับท้ายผลและจุกเป็นชั้น ๆ
อ้างอิง : ทวีศักดิ์ แสงอุดม (2560) สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร