คำแนะนำการดูแลรักษาต้นไม้ผลให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติภัยแล้ง

ในปีก่อนภัยแล้งส่อเค้ามาตั้งแต่ต้นปีที่ฝนตกน้อยและเริ่มเห็นชัดในช่วงฤดูฝนที่ฝนตกล่าช้า ตามมาด้วยอุทกภัยหนักทางภาคอีสาน หลังจากนั้นภัยแล้งยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคอีสาน จนกระทั่งปีนี้ที่ภัยแล้งมีท่าทีจะขยายวงกว้างและยืดเยื้อยาวนานขึ้นจนอาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าในอดีตที่เคยประสบมานะนำการดูแลรักษาต้นไม้ผลให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตภัยแล้ง

1. การให้น้ำควรคำนึงถึงการให้น้ำแบบประหยัด กล่าวคือ ควรให้น้ำแบบระบบน้ำหยดหรือหัวเหวี่ยงขนาดเล็กจะช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สายยางรดน้ำให้น้ำครั้งน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อลดการสูญเสียน้ำเปลี่ยนช่วงเวลาการให้น้ำเป็นช่วงกลางคืน เพื่อช่วยให้พืชลดการระเหยน้ำจากการถูกแดดเผา เช่น การให้น้ำแบบหยด การให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์ ซึ่งช่วยประหยัดน้ำได้มาก การระเหยน้ำจากผิวดินก็น้อยกว่าการให้น้ำวิธีอื่น ๆ โดยต้องมีแหล่งเก็บกักน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องกรองน้ำ ท่อพีวีซี ท่อพีอี หัวหยด และหัวเหวี่ยงน้ำ ปัจจุบันอุปกรณ์การให้น้ำราคาถูกลงมากและมีแหล่งจำหน่ายอย่างแพร่หลาย

2. การใช้วัสดุคลุมดินโดยคลุมจากโคนต้นไม้ผลจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม โดยวัตถุคลุมดิน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1.อินทรียวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เศษเหลือของพืช เช่น ตอซัง หญ้าแห้ง และปุ๋ยหมัก เช่น ซากอินทรียวัตถุที่สะสมอยู่ในลุ่มน้ำต่าง ๆ เศษเหลือของไม้ต่าง ๆ เช่น ขี้กบ ขี้เลื่อย เศษเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น กากอ้อย เป็นต้น และ2.วัตถุคลุมดินที่ได้จากการสังเคราะห์ ได้แก่ พลาสติก เช่น พลาสติกคลุมดิน ซึ่งมีความเหนียว ทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน เป็นต้น

3. การตัดแต่งกิ่งไม้ผลที่เก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูแล้ง หลังการเก็บผลแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการระเหยน้ำทางใบ และช่วยให้การออกดอกติดผลในฤดูต่อไปเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การตัดแต่งกิ่งเป็นวิธีปฏิบัติในสวนผลไม้ที่ขาดไม่ได้ แบ่งทำ 2 ช่วง ในระยะแรก ๆ ของการปลูกไม้ผลเพื่อบังคับให้ต้นไม้มีรูปร่างและลักษณะตามที่ต้องการ เพื่อไม่ให้เกะกะในการปฏิบัติงานสวน และเกิดผลดีในการออกดอกติด ผลในเวลาต่อไป การตัดแต่งเพื่อให้ต้นไม้มีรูปทรงตามต้องการนี้เรียกว่า “การแต่งทรงต้น” ทำในระยะ 2-3 ปีแรกขณะที่ต้นไม้ยังมีขนาดเล็กและอายุยังน้อยอยู่และระยะที่ต้นโต จนให้ดอกผลได้แล้ว จำเป็นจะต้องตัดกิ่งของพืชออกบ้างเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำหน้าที่ในการให้ประโยชน์เต็มที่ การปฏิบัติเช่นกรณีหลังนี้ เรียกว่า “การตัดแต่งกิ่ง”

4. การกำจัดวัชพืชควรกำจัดตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง และใช้เศษวัสดุที่แห้งแล้วมาคลุมโคนต้นไม้ผล แต่ในระยะที่ขาดแคลนน้ำมาก ๆ ไม่ควรทำการกำจัดวัชพืชหรือไถพรวนดิน เพราะจะทำให้ผิวดินแห้งเร็วมากขึ้นอีก

5. การจัดหาแหล่งน้ำควรปรับปรุงบ่อน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเก็บกักไว้ สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้ทะเล จำเป็นต้องกักน้ำจืดไว้ เพื่อป้องกันน้ำเค็มที่จะเข้ามาในสวน หมั่นตรวจสอบระบบส่งน้ำ ควบคุมอย่าให้น้ำรั่วไหล หากมีผักตบชวา จอก แหน หรือสาหร่าย อยู่ในท้องร่องสวนเป็นจำนวนมาก ควรนำขึ้นมาคลุมบริเวณโคนต้นไม้ผลเพื่อรักษาความชื้นได้

6. ไม่ควรใส่ปุ๋ยในช่วงแล้งหากน้ำไม่เพียงพอเพราะจะเป็นการไปกระตุ้นการเจริญเติบโต ให้แตกใบอ่อนในช่วงแล้งน้ำน้อย จะทำให้พืชมีน้ำไม่พอใช้มากขึ้น ส่งผลทำให้ต้นเหี่ยวเฉาและตายได้

7. การทำแนวกันไฟรอบสวนควรกำจัดวัชพืชภายในบริเวณสวนไม้ผลให้โล่งเตียนทันทีหลังหมดสิ้นฤดูฝน ให้เก็บเศษหญ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง และใบไม้แห้ง ออกจากแปลงปลูกเอาไปคลุมดินรอบโคน ตัดใต้บริเวณทรงพุ่มไม้ผล เพื่อป้องกันไฟไหม้สวน เตรียมน้ำ ทราย และอุปกรณ์ดับไฟไว้ให้พร้อม และเก็บไว้ในที่เฉพาะสามารถนำมาใช้งานได้ทันที