กว่าจะเป็นสับปะรด

กว่าจะเป็นสับปะรด

สับปะรดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ชาวอินเดียนพื้นเมืองเป็นผู้ค้นพบ และรู้จักสับปะรดมานานก่อนที่โคลัมบัสจะพบในปี ค.ศ. 1493 และชาวอินเดียนเผ่านี้เองที่เป็นผู้เผยแพร่สับปะรดไปสู่แหล่งอื่น ๆ เช่น บราซิล เวเนซูเอลา โคลัมเบีย ปานามา และหมู่เกาะแอตแลนติส การปลูกสับปะรดในประเทศไทยพบว่า ในช่วงปีค.ศ. 1680 – 1700 หรือประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีรายงานการพบสับปะรดในประเทศไทย ประเทศพม่า และแคว้นอัสสัม ถ้าในช่วงปี ค.ศ. 1680 -1700 จะตรงกับปี พ.ศ. 2223 – 2243 ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับ ประเทศไทยเป็นผู้นำสับปะรดเข้ามา สับปะรดในยุคนั้นเป็นพันธุ์อินทรชิตหรือ พันธุ์ในกลุ่ม Spanish ซึ่งมีการปลูกกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไป ส่วนสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากในปัจจุบันและมากกว่าร้อยละ 80 ปลูกเพื่อส่งโรงงาน แหล่งปลูกใหญ่อยู่ในภาคตะวันตก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี โดยเชื่อกันว่ามีผู้นำพันธุ์เข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย และปลูกที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนแหล่งปลูกในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง เชื่อว่ามีผู้นำพันธุ์มาจากประเทศอินเดียและนำไปปลูกไว้ที่อำเภอศรีราชา สับปะรดที่ปลูกทั้งสองแหล่งนี้มีรสชาติเป็น ที่ชื่นชอบของผู้บริโภคจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามสับปะรดปราณบุรี และสับปะรดศรีราชา

สับปะรดผลไม้ส่งออกอันดับที่ 6 ของไทยในแง่มูลค่า อันดับที่ 2 ในแง่ปริมาณ ผลไม้สดและแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของไทย โดยระหว่างเดือนมกราคม ถึงตุลาคมปี 2022 การส่งออกผลไม้ทั้งแบบสด แห้ง และแช่แข็ง ทำรายได้ให้ไทยถึง 1.68 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.02 % ของสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยมี ‘ทุเรียน’ ครองแชมป์ผลไม้ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดของไทยทั้งในแบบสดและแช่แข็ง ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกสร้างรายได้ทั้งหมด 1.04 แสนล้านบาท สถิติข้างต้นเป็นตัวพิสูจน์ได้อย่างดีว่า สับปะรดเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญอย่างมาก กับเศรษฐกิจของไทยในฐานะครัวโลก สถานการณ์การเพาะปลูกและผลผลิตสับปะรดในปี 65 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.772 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลก และระยอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมา 0.39%, 2.68% และ 2.27%  ตามลำดับ ทางด้านราคาตั้งแต่ปี  63 ถึงต้นปี  64 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น การเพาะปลูกและผลผลิตสับปะรดในปี  65  มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่  คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.772 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลก และระยอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมา 0.39%, 2.68% และ 2.27% ตามลำดับ ทางด้านราคาตั้งแต่ปี 63  ถึงต้นปี 64 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

สับปะรดพันธุ์ต่าง ๆ ในแต่ละกลุ่มพันธุ์ ยึดเกณฑ์มาตรฐานของ IBPGR (1991) สามารถจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มพันธุ์          คือ  1. กลุ่ม Smooth cayenne มี 3 พันธุ์ / สายพันธุ์ คือ ปัตตาเวีย นางแล ลักกะตา  2. กลุ่ม Queen มี 5 พันธุ์ / สายพันธุ์ คือ ตราดสีทอง ภูเก็ต สวี ปัตตานี และสิงคโปร์ปัตตาเวีย 3. กลุ่ม Spanish มี 2 พันธุ์ / สายพันธุ์ คือ อินทรชิตแดง อินทรชิตขาว

 

ลักษณะสำคัญของสับปะรดแต่ละกลุ่ม                                                                                         

  1. กลุ่ม Smooth cayenne พันธุ์สับปะรดกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่นิยมปลูกมากที่สุด ทั้งเพื่อใช้บริโภคสดและใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง พันธุ์สับปะรดในกลุ่มนี้ผลมีขนาดประมาณ 1.0 – 2.5 กิโลกรัม รูปร่างค่อนข้างเป็น ทรงกระบอก เนื้อมีสีเหลือง มีเยื่อใย (fiber) ซึ่งพันธุ์สับปะรดในกลุ่ม Smooth cayenne ในประเทศไทยคือ พันธุ์ปัตตาเวีย นางแล ลักกะตา น้ำผึ้ง และโนห์รา โดยพันธุ์ที่สำคัญในอุตสาหกรรมแปรรูปของไทยคือ พันธุ์ปัตตาเวีย พันธุ์นี้จะมีใบสีเขียวเข้มและมีสีม่วงแดงอมน้ำตาลปนอยู่บริเวณกลางใบ ผลจะมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ ด้านคุณภาพผล เนื้อมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว
  2. กลุ่ม Queen สับปะรดกลุ่ม Queen มีขนาดของต้นและผลเล็กกว่า กลุ่ม smooth cayenne ขอบใบมีหนามเรียงชิดติดกันตลอดความยาวใบ น้ำหนักผล ประมาณ 1.0 กิโลกรัม รูปร่างทรงกระบอกตาค่อนข้างนูน เปลือกหนา เนื้อมีสีเหลือง เข้มและกรอบ รสชาติหวาน มีเยื่อใยน้อยและมีกลิ่นหอม แกนผลอ่อนนุ่มกว่า พันธุ์ปัตตาเวีย สับปะรดกลุ่มนี้ในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์ภูเก็ต (จังหวัดเชียงราย เรียกว่า พันธุ์ภูแล) พันธุ์สวี พันธุ์ตราดสีทอง พันธุ์ปัตตานีและพันธุ์สิงคโปร์ปัตตาเวีย
  3. กลุ่ม Spanish สับปะรดกลุ่ม Spanish มีขนาดของต้นและผลอยู่ ระหว่างกลางของกลุ่ม Smooth cayenne และกลุ่ม Queen ขอบใบมีหนามแหลม 27 รูปโค้งงอ ผลมีรูปร่างกลม น้ำหนักผล 1.0 – 1.5 กิโลกรัม ตานูน ขนาดของตาใหญ่กว่า กลุ่ม Smooth cayenne เนื้อสีเหลืองจาง มีเยื่อใยมาก แกนผลเหนียว กลิ่นและ รสชาติแตกต่างจาก 2 กลุ่มแ รก รสชาติเปรี้ยว พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์อินทรชิตแดง และพันธุ์อินทรชิตขาว

การขยายพันธุ์

สับปะรดนิยมขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้น และส่วนบนผลและก้านผล ส่วนที่นิยมใช้ในการขยายพันธุ์ได้แก่ หน่อ รองมาคือ จุก และตะเกียง

หน่อ (sucker) เป็นส่วนที่นิยมนำมาใช้ในการขยายพันธุ์ การปลูกควรมี การคัดหน่อ โดยปลูกหน่อที่มีขนาดใกล้เคียงกันในแปลงเดียวกัน

จุก (crown) ส่วนบนสุดของผล เป็นส่วนที่นิยมนำมาใช้ในการขยายพันธุ์ เช่นกัน การปลูกจากจุกจะได้ต้นสับปะรดที่มีขนาดสม่ำเสมอกัน แต่จะใช้เวลาตั้งแต่ ปลูก – ออกดอก และเก็บเกี่ยวนานกว่าการปลูกด้วยหน่อ

ตะเกียง (slip) คือหน่อที่เกิดจากตาที่อยู่บนก้านผลซึ่งมีลักษณะเป็นต้น สับปะรดเล็ก ๆ คล้ายหน่อสับปะรดสามารถนำมาใช้ขยายพันธุ์ได้เช่นกัน แต่ไม่นิยมใช้

การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ตามปกติการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะใช้ในกรณีที่ได้ พันธุ์ใหม่และมีต้นพันธุ์จำนวนน้อย และต้องการเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ให้ได้ในปริมาณ มากในระยะเวลาที่รวดเร็ว หรือใช้ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องโรคเหี่ยวที่ติดไปกับ ส่วนขยายพันธุ์และต้องการผลิตต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค เช่น การผลิตต้นพันธุ์สับปะรด ปัตตาเวียปลอดโรคเหี่ยว                                                                                                                                                                              การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์สับปะรดด้วยการเพาะเมล็ดนั้นส่วนใหญ่จะทำเพื่อ การปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ โดยทำการคัดเลือกพ่อและแม่พันธุ์ ที่มีลักษณะตามที่ต้องการ เมื่อต้นมีอายุเหมาะสมจึงบังคับให้ออกดอก และทำการผสมพันธุ์ หลังจากผสมเกสรประมาณ 5 – 6 เดือน ผลจะแก่ทำการเก็บเกี่ยวแล้ว ผ่าผลแกะนำเมล็ดออกซึ่งเมล็ดจะอยู่ภายในรังไข่

 

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษา

สับปะรดเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ แต่ปัจจัยสภาพแวดล้อมมีผลต่อ การเจริญเติบโต การให้ผลผลิตและคุณภาพของสับปะรด โดยปัจจัยต่าง ๆ มีดังนี้

1) ระดับความสูงของพื้นที่ สับปะรดสามารถปลูกได้ตั้งแต่ที่ความสูงระดับน้ำทะเลขึ้นไป จนถึงระดับ 1,200 เมตร แต่ถ้าจะปลูกเป็นการค้าควรอยู่ในระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตร เพราะถ้าระดับพื้นที่ยิ่งสูงขึ้นจะทำให้อุณหภูมิลดลงและมีผลต่อ การเจริญเติบโตและคุณภาพของสับปะรด

2) แสงแดด สับปะรดเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดตลอดวันและพบว่า การลดปริมาณ แสงแดดลง 20 เปอร์เซ็นต์ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง 10 เปอร์เซ็นต์

3) อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการปลูกสับปะรดช่วง 24-30 องศาเซลเซียส ตามปกติแล้วการเจริญเติบโตของสับปะรดจะหยุดชะงักเมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ซึ่งแหล่งผลิตสับปะรดเป็นการค้าของโลกส่วนใหญ่จะอยู่ตาม แนวพื้นที่ชายทะเลหรือมหาสมุทร หรือตามพื้นที่เกาะต่าง ๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ของอุณหภูมิและความชื้นน้อยกว่าพื้นที่ระดับเดียวกันที่อยู่ภายในของทวีป ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกสับปะรดของประเทศไทยส่วนมากอยู่ในเขตจังหวัด ชายทะเล เช่น จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี และ ระยอง เป็นต้น

4) ปริมาณน้ำฝน แม้สับปะรดเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่า สับปะรดไม่ต้องการน้ำ ส่วนใหญ่การปลูกสับปะรดของไทยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ดังนั้นถ้าปริมาณน้ำฝนมีความสม่ำเสมอหรือค่อนข้างสม่ำเสมอและกระจายตลอดปี จะทำให้สับปะรดมีการเจริญเติบโตดี เนื่องจากไม่มีช่วงหยุดชะงักการเจริญเติบโต  การขาดน้ำอย่างรุนแรงมีผลต่อผลผลิต คือ จะทำให้ขนาดผลลดลง ดังนั้น การเลือก แหล่งปลูกสับปะรดให้ได้ผลดีควรเลือกที่ที่มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000 – 1,500 มิลลิเมตร / ปี และมีการกระจายของฝนสม่ำเสมอหรือค่อนข้างสม่ำเสมอ

5) สภาพดิน สับปะรดเป็นพืชที่ไม่เลือกชนิดของดินมากนัก แต่ดินปลูกที่เป็นดินเนื้อหยาบ เช่น ดินทรายชายทะเลมักมีการระบายน้ำดีเหมาะกว่าดินที่มีเนื้อละเอียด เช่น ดินเหนียวซึ่งระบายน้ำได้ยาก และจะเกิดปัญหาเรื่องโรคติดตามมา ดินปลูกควร เป็นดินร่วน หรือร่วนปนทราย ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ความลาดเอียง 1 – 2 เปอร์เซ็นต์การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 4.5 – 5.5 สับปะรดไม่ชอบดินที่มี pH สูงเกินกว่า 7.0 ดังจะเห็นได้ว่าหากพื้นที่ปลูก ใดมีสภาพเป็นจอมปลวกเก่าอยู่มาก สับปะรดจะมีใบเหลือง ซีด อ่อนแอ ง่ายแก่ การถูกทำลายโดยโรครากเน่าและโคนเน่า ทั้งนี้เนื่องจากขาดธาตุเหล็กในรูป ที่ใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง ในด้านสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อ การเจริญเติบโตของสับปะรดระหว่าง 24 – 30 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝน กระจายสม่ำเสมอระหว่าง 1,000 – 1,500 มิลลิเมตร / ปี

ฤดูปลูกสับปะรด

การปลูกสับปะรดในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดปี ยกเว้นช่วง ที่มีฝนตกหนักเท่านั้นที่ไม่นิยมปลูกเนื่องจากมักมีโรครากเน่ายอดเน่าระบาดทำลาย และการเตรียมแปลงกระทำได้ลำบาก โดยทั่วไปเกษตรกรมักนิยมปลูก ตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกไม่มี ฝนตกชุก ไม่มีปัญหาเรื่องโรครากเน่ายอดเน่า นอกจากนั้นแล้วการปลูกสับปะรด ในช่วงนี้สามารถใช้จุกปลูกได้ดี

การเตรียมพันธุ์ปลูก

วัสดุปลูกที่นิยมใช้ มี 2 แบบ คือ หน่อ และจุก การปลูกด้วยหน่อ ควรมี

การคัดขนาดหน่อ หน่อขนาดเดียวกันควรปลูกในแปลงเดียวกัน เพื่อให้ ต้นเจริญเติบโตสม่ำเสมอ สามารถบังคับดอกและเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน นอกจากนี้ การคัดขนาดวัสดุปลูกสามารถช่วยกระจายผลผลิตสับปะรดได้ เนื่องจากวัสดุปลูกที่มี ขนาดแตกต่างกัน จะมีการเจริญเติบโตไม่พร้อมกัน เมื่อนำมาปลูกพร้อม ๆ กัน จะทำให้การบังคับดอกและเก็บเกี่ยวได้ไม่พร๎อมกัน หน่อที่ใช้ปลูกมี 3 ขนาด

1) หน่อขนาดเล็ก น้ำหนัก 300 – 500 กรัม ความยาว 30 – 50 เซนติเมตร

2) หน่อขนาดกลาง น้ำหนัก 500 -700 กรัม ความยาว 50-70 เซนติเมตร

3) หน่อขนาดใหญ่ น้ำหนัก 700-900 กรัม ความยาว 70-90 เซนติเมตร

รอบการปลูกสับปะรด สับปะรดเป็นพืชที่มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนานประมาณ 15 – 18 เดือน และหลังจากเก็บเกี่ยวผลจากต้นที่ปลูกครั้งแรก (plant crop) สามารถไว้หน่อ และเก็บผลผลิตได้อีก 1 – 2 รุ่น (First and Second ratoon crop) ซึ่งช่วงระยะ เวลาตั้งแต่การปลูกครั้งแรกจนถึงเก็บเกี่ยวหน่อรุ่นสุดท้ายและเตรียมการปลูกครั้งต่อไป ในพื้นที่เดิมเรียกว่า รอบการปลูก (crop cycle) มี 2 แบบ

  1. รอบการปลูก 4 ปี ไว้หน่อครั้งเดียว โดยจะเก็บผล 2 รุ่น คือ ผลจาก ต้นแม่ (plant crop) และเก็บผลจากหน่อรุ่นแรก (first ratoon crop)
  2. รอบการปลูก 5 ปี ไว้หน่อ 2 รุ่น และสามารถเก็บผลผลิตได้ 3 รุ่น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเกษตรกรภาคตะวันออกบางส่วนนิยมปลูก และเก็บเกี่ยวรุ่นแม่ (plant crop) เพียงรุ่นเดียวแล้วรื้อแปลงปลูกใหม่ ซึ่งมีข้อดี คือต้นเจริญสม่ำเสมอ ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมแปลงอีกครั้ง

 

การเตรียมแปลงปลูก

การเตรียมแปลงปลูก เนื่องจากรอบของการปลูกสับปะรดใช้เวลานาน 4-5 ปี จึงต้องมีการเตรียมดินอย่างดี เพื่อให้ต้นสับปะรดมีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอให้ผลผลิตสูง พื้นที่ ๆเคยปลูกสับปะรดให้ไถสับใบและต้น (กรณีที่ไม่มี โรคเหี่ยวระบาด) ทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 เดือน แล้วไถกลบอีกครั้ง ในพื้นที่ ๆ มีดินดาน อยู่ใต้ผิวหน้าดิน ให้ไถทำลายดินดาน และควรมีการวิเคราะห์ดินก่อนปลูกและปฏิบัติ ตามคำแนะนำโดยเฉพาะการจัดการอินทรียวัตถุในดิน

                การปลูกต้องเลือกจำนวนต้นปลูกต่อไร่ที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นกับวัตถุประสงค์การปลูก ว่าจะปลูกเพื่อขายผลสดหรือปลูกเพื่อส่งโรงงาน ถ้าปลูกเพื่อส่งโรงงานและปลูก จำนวนต้น / ไร่น้อย เช่น 4,000 – 5,000 ต้น / ไร่ จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ควรปลูก 8,000 – 10,000 ต้น / ไร่ ได้ผลผลิต / ไร่สูงกว่าและมีขนาดผลเหมาะสมตามที่โรงงานต้องการ

 

วิธีการปลูกและระยะปลูก

การปลูกสับปะรดเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรด กระป๋องจะปลูกในระบบร่องแถวคู่ (double row bed) ระยะปลูก 30x50x(60-90) เซนติเมตร ปลูกได้ประมาณ 8,000 หน่อ / ไร่ และควรชุบหน่อก่อนปลูกด้วย สารป้องกันโรครากเน่าหรือต้นเน่า โดยเฉพาะการปลูกช่วงกลางฤดูฝน ส่วนการปลูกสับปะรดในกลุ่ม Queen เช่น พันธุ์ตราดสีทอง พันธุ์สวี หรือพันธุ์ภูเก็ต นิยมปลูก แบบแถวเดี่ยวระยะปลูกระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 80 – 100 เซนติเมตร ปลูกได้ 5,000- 6,000 หน่อ / ไร่สำหรับการปลูกสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง ในพื้นที่จังหวัดตราด ส่วนใหญ่จะปลูกในสภาพกลางแจ้ง

 

การปฏิบัติดูแลรักษา

การใส่ปุ๋ย เนื่องจากพื้นที่ปลูกสับปะรดส่วนใหญ่สภาพดินเป็นดินทราย ดินร่วนปนทรายหรือดินทรายที่มีการระบายน้ำดีทำให้มีการสูญเสียธาตุอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของดินค่อนข้างเร็ว โดยสูญเสียไปกับน้ำที่ชะล้างหน้าดิน หรือน้ำที่ซึมลงไปในดินเกินกว่าระดับความลึกของระบบรากพืช นอกจากการสูญเสีย ธาตุอาหารไปกับน้ำแล้ว ธาตุอาหารอีกจำนวนหนึ่งจะถูกนำออกไปจากพื้นที่ โดยติดไปกับผลผลิตและหน่อสับปะรด การเจริญเติบโตและผลผลิตของสับปะรดจะตอบสนองต่อธาตุไนโตรเจนมากที่สุด รองลงมาคือ โพแทสเซียม ปริมาณไนโตรเจน ที่ให้กับสับปะรดจะเป็นตัวกำหนดปริมาณของโพแทสเซียม ซึ่งควรจะสมดุลกันด้วย ส่วนธาตุอาหารรองที่สับปะรดต้องการและมีการตอบสนองต่อการเพิ่มแมกนีเซียม ในพื้นที่ ๆใช้ปลูกสับปะรดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มักพบว่าสับปะรดได้รับธาตุอาหารเสริม (micronutrient) หลายธาตุไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่น เหล็ก สังกะสี และ ทองแดง รวมทั้งโบรอน

การพ่นปุ๋ยทางใบสับปะรด ส่วนใหญ่ทำเมื่อพืชได้รับธาตุอาหาร ไม่เพียงพอทั้งในช่วงต้นเล็กเริ่มให้หลังจากปลูกประมาณ 1 – 2 เดือน โดยดูจาก สภาพต้น ให้ปุ๋ยทั้งหมด 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 เดือน ส่วนการพ่นปุ๋ยสับปะรด ในแปลงต้นใหญ่ในแปลงใหม่ที่พ่นปุ๋ยต้นเล็กครบ 4 ครั้ง แล้วให้พ่นปุ๋ยต่ออีก เดือนละครั้ง จนถึงกำหนดการให้สารเคมีบังคับดอก จึงหยุดการพ่นปุ๋ย ส่วนใน แปลงเก่าที่เลี้ยงหน่อ เมื่อเก็บผลผลิตแล้วประมาณ 2 เดือน ให้พ่นปุ๋ยต่ออีก เดือนละครั้งจนถึงกำหนดการให้สารเคมีบังคับดอก จึงหยุดการพ่นปุ๋ย

การตกค้างของไนเตรท เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน มากเกินไปหรือใส่ไม่ถูกช่วงเวลา หรืออาจเกิดจากพืชไม่สามารถทำลายไนเตรทได้เอง ตามปกติเนื่องจากความบกพร่องของเอนไซม์ไนเตรทรีดัคเตส (nitrate reductase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่เปลี่ยนไนเตรทให้อยู่ในรูปอื่น โดยเอนไซม์ไนเตรทรีดัคเตสมีโมลิบดินัมเป็นองค์ประกอบสำคัญ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ เช่น การดูดสารไนเตรทขึ้นไปมากในช่วงหลังฝนตก ความเข้มแสงน้อย และขาดธาตุอาหารเสริมบางชนิด รวมทั้งการปฏิบัติบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแคะจุกหรือเดาะจุก

การแก้ไขปัญหาการตกค้างของไนเตรท กรมวิชาการเกษตร (2545) ได้มีคำแนะนำให้เกษตรกรแก้ไขปัญหาการตกค้างของไนเตรท โดยห้ามใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนหลังการบังคับดอกห้ามทำลายจุก และแหล่งที่พบไนเตรทตกค้างสูงใช้โมลิบดินัม 100 กรัม / ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังออกดอก 2.5 และ 4.5 เดือน หรือใช้โพแทสเซียมคลอไรด์ 70 กิโลกรัม / ไร่ หลังออกดอก 2.5 เดือน

การให้น้ำ

ตามปกติการปลูกสับปะรดจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ในฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีความชื้นต่ำมาก ทำให้สับปะรดขาดน้ำ สับปะรดจะชะงักการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะการขยายขนาด ของผล สับปะรดที่ขาดน้ำจะมีผลทำให้เจริญเติบโตช้า สับปะรดที่ขาดน้ำจะมีการเจริญเติบโต การออกดอกและการติดผล ไม่ดี ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่ำ ขนาดของผลไม่ได้มาตรฐาน และไม่ได้คุณภาพ แม้สับปะรดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยแต่ก็ยังมีความไวต่อการขาดน้ำโดยเฉพาะช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและใบ (Vegetative) ทำให้กระทบต่อผลผลิต และคุณภาพของผลผลิต ในช่วงที่        สับปะรดออกดอกหากขาดน้ำจะไม่กระทบกระเทือนมากนัก อาจจะเร่งให้ผลสุกเร็วขึ้นหรือแก่พร้อมกัน ขณะที่สับปะรด ออกดอกการให้น้ำมากจะทำให้ก้านใหญ่และแกนผลใหญ่ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการทำ สับปะรดกระป๋อง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการให้น้ำตามความต้องการของสับปะรด

การบังคับดอก

ตามปกติสับปะรดจะออกดอกเองตามธรรมชาติในช่วงที่ได้รับอากาศเย็น หรือในช่วงฤดูหนาว แต่ในการปลูกสับปะรดเป็นการค้าจะมีการจัดการให้สับปะรด ออกดอกพร้อมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแปลงและการจัดการ ผลผลิตเพื่อเข้าสู่โรงงานได้ตามแผน สารเคมีที่ใช้ในการบังคับดอก 2 ชนิด คือ แคลเซียมคาร์ไบด์(Calcium carbide : CaC2 ) หรืออะเซทธิลีน (acelylene : C2H2 ) และ  เอทธีฟอน (ethephon; 2-chloroethyl phosphonic acid) ซึ่งต้นสับปะรดที่พร้อมสำหรับการบังคับดอก ควรมีลักษณะ ดังนี้

1) มีน้ำหนักต้นและใบ (ไม่รวมราก) ประมาณ 2.5 – 2.8 กิโลกรัม หรือ มีใบ 45 ใบขึ้น (สับปะรดรุ่นแม่)และน้ำหนักประมาณ 1.8 – 2.0 กิโลกรัม (สับปะรดตอ)

2) ลักษณะโคนต้นอวบใหญ่ ใบกว้าง หนา สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมม่วงแดง

3) อายุประมาณ 7 – 9 เดือน เมื่อปลูกด้วยหน่อ หรือ 10 – 12 เดือน เมื่อปลูกด้วยจุก

การจัดการศัตรูพืชของสับปะรด                                                                                                                                                             

สับปะรดจัดเป็นพืชที่มีศัตรูพืชไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม มีโรคและแมลง ที่สำคัญที่เป็นปัญหาในการผลิตสับปะรด เช่น โรคเหี่ยว โรคยอดเน่า และยอดล้ม โรครากเน่าและต้นเน่า รวมทั้งโรคผลแกน ส่วนปัญหาแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยแป้งและมด ซึ่งสาเหตุของโรคเหี่ยวสับปะรด (pineapple mealybug wilt associated virus; PMWaVs) ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคเอ๋อ” เป็นปัญหาสำคัญของการปลูกสับปะรดในปัจจุบัน การแพร่กระจายของโรคเกิดจาก การนำหน่อหรือจุกจากต้นที่เป็นโรคไปปลูก ซึ่งมีเพลี้ยแป้งเป็นพาหะนำโรค และมดเป็นตัวแพร่กระจายเพลี้ยแป้ง ซึ่งโรคเหี่ยวในสับปะรดมีการแพร่ระบาดทุกแหล่งปลูก สับปะรดที่สำคัญของประเทศ เช่น จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง ชลบุรี อุทัยธานี พัทลุง เป็นต้น การแพร่ระบาดโรคเหี่ยวสับปะรด จะมีการระบาดอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะ มีการแพร่ระบาดของแมลงพาหะ คือ เพลี้ยแป้งที่มีนิสัยการดูดกินน้ำเลี้ยงจาก ต้นสับปะรดที่เป็นโรคเหี่ยวและแพร่สู่ต้นปกติในรูปแบบการกระจายตัวแบบวงกลม มีการขยายจากจุดกลาง (ต้นเกิดโรค) แล้วค่อยๆ ลุกลามไปเรื่อย ๆ โดยมีมดเป็น ตัวการนำเพลี้ยแป้งสู่ต้นอื่น ๆ เพลี้ยแป้งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส สู่ต้นสับปะรดในขณะดูดกินน้ำเลี้ยงผ่าน ทางท่ออาหาร (phloem) และเชื้อไวรัสจะเข้าพักตัวในต้นสับปะรด และจะแสดง อาการเมื่อต้นอ่อนแอ และสภาพแวดล้อมเหมาะสม เพลี้ยแป้งที่นำโรคเหี่ยว มี 2 ชนิด คือ 1. เพลี้ยแป้งสับปะรดสีชมพู Dysmicoccus brevipes (Cockerell) มักพบเสมอบริเวณส่วนล่างของพืชอาศัย เช่นราก บริเวณโคนของหน่อ 2. เพลี้ยแป้งสับปะรดสีเทา Dysmicoccus neobrevipes (Beardsley) มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ส่วนบนของพืชอาศัย เช่น ใบ ลำต้น ดอก และผล

วัชพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

ปัจจุบันการปลูกสับปะรดของเกษตรกรประสบปัญหาด้านการจัดการวัชพืช เนื่องจากการใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้วัชพืชสามารถปรับตัวได้ ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตสับปะรด วัชพืชเป็นตัวแย่งปัจจัยการเจริญเติบโตและเป็นที่อาศัยของแมลงศัตรูพืช เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้าในระยะแรก จึงเป็นพืชที่มีศักยภาพด้อยในการแข่งขันกับวัชพืช จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชในช่วงเวลาดังกล่าว หากไม่กำจัดวัชพืชจะทำให้สูญเสียผลผลิตประมาณ 64.3 – 80.8 เปอร์เซ็นต์ โดยวัชพืชใบกว้างและเถาเลื้อย ทำให้การเจริญเติบโตของสับปะรดลดลง 19.8 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเสียหาย 55.8 เปอร์เซ็นต์ ความสูญเสียผลผลิตขึ้นกับชนิดวัชพืช ความหนาแน่น และองค์ประกอบสิ่งแวดล้อม เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้น ปริมาณฝน หากปัจจัยเพื่อการเจริญเติบโตของพืชมีความเหมาะสมมาก ย่อมมีผลดีต่อ การเจริญเติบโตของวัชพืช ช่วงเวลาการแข่งขันของวัชพืชไม่ควรเกิน 2 เดือนแรก และช่วงเวลาปลอดวัชพืช คือ 4 เดือนแรก จึงจะไม่เกิดความสูญเสียผลผลิตถึงระดับเศรษฐกิจ

การป้องกันกำจัดวัชพืชในการปลูกสับปะรด ทำได้หลายวิธี แต่ละวิธี ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้แตกต่างกันแล้วแต่ความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ และความพร้อมของผู้ปฏิบัติ ที่จะเลือกใช้วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะนำหลาย วิธีมาประยุกต์ใช้ร่วมกันตามความเหมาะสม โดยวิธีการป้องกันกำจัดวัชพืชสามารถ แยกออกเป็น 2 วิธีการ คือ

  1. การป้องกันกำจัดวัชพืชโดยไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช อาทิเช่น การไถ เตรียมดิน การใช้แรงงานคนหรือเครื่องมือกล และการใช้วัสดุคลุมดิน เป็นต้น 2. การป้องกันกำจัดวัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช การใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นวิธีการกำจัดวัชพืชที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง สามารถช่วยประหยัดแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต กำจัดวัชพืชได้ทันเวลาการแข่งขันของวัชพืชกับพืชปลูก ถ้าสามารถเลือกใช้สารกำจัดวัชพืชได้อย่างถูกต้อง ใช้อย่างถูกวิธี ไม่เกิดผลเสีย ต่อพืชปลูก และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ดังนั้น ผู้ที่จะใช้สารกำจัดวัชพืชต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการใช้สารกำจัดวัชพืชให้ถูกต้อง จึงจะได้ประโยชน์ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืช มีผลต่อการให้ผลผลิตของพืชปลูกได้เต็มที่

การแบ่งชนิดของสารกำจัดวัชพืช

แบ่งตามอายุหรือขนาดของวัชพืช หรือพืชปลูก เพื่อควบคุมวัชพืชในช่วงระยะเวลาที่ต้องการ ตามคุณสมบัติ การเข้าทำลาย การเลือกทำลาย การทำลายในพืชของสารนั้น ๆ สามารถแบ่งได้ คือ

  1. สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก เป็นสารกำจัดวัชพืชที่ต้องพ่นก่อน เมล็ดวัชพืชหรือก่อนวัชพืชโผล่พ้นผิวดิน จะเป็นสารชนิดที่เคลื่อนย้ายในพืช โดยเข้าทางยอดอ่อน หรือรากอ่อนของวัชพืช การใช้สารประเภทนี้ดินควรมีความชื้น พอที่จะให้เมล็ดวัชพืชงอกขึ้นมา เพื่อส่วนยอดของต้นหรือรากได้รับสาร
  2. สารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก เป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้พ่นไปบน ต้นวัชพืช อาจเป็นสารชนิดเลือกทำลาย หรือเป็นสารชนิดไม่เลือกทำลาย เพราะฉะนั้นการที่จะเลือกใช้สารชนิดนี้จะต้องใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะการใช้ผิดชนิด ผิดวิธี อาจเป็นอันตรายต่อพืชปลูกได้ นอกจากนี้สารกำจัด วัชพืชชนิดนี้ยังแบํงออกเป็นชนิดย่อย ๆ ตามระยะเวลาการพ่นได้ คือ

2.1 ชนิดพ่นระยะวัชพืชยังเป็นต้นอ่อน เป็นสารที่กำหนดให้ใช้กับพืช ในอัตราที่แนะนำในช่วงที่วัชพืชยังเล็ก เช่น ระยะวัชพืชมี 3 – 5 ใบ จะสามารถควบคุมวัชพืชชนิดนั้น ๆ ได้ และอาจเป็นสารประเภทเลือกทำลาย

2.2 ชนิดพ่นระยะวัชพืชโตแล้ว เป็นสารที่ใช้พ่นกำจัดวัชพืชในช่วงที่ วัชพืชโตแล้วแต่ไม่ควรเกินระยะออกดอก หรืออาจใช้ก่อนปลูกพืช

การเก็บเกี่ยวสับปะรด มี 2 แบบ คือ

  • การเก็บเกี่ยวสับปะรดเพื่อส่งโรงงาน ต้องเก็บผลสุก (เบอร์1 – 4) คือ เปลือกมีสีเหลืองจางๆ ประมาณ 1 – 2 ตา ถึงเปลือกสีเหลืองประมาณครึ่งผล ถึง 3/4 ของผลหรือประมาณ 4 – 6 ตา ไม่ควรเก็บผลสับปะรดที่อ่อนเกินไป เพราะคุณภาพจะไม่ดี เนื้อสีขาว ไม่สามารถผลิตสับปะรดเกรดสูงได้ การเก็บเกี่ยวผลสับปะรดส่งโรงงานจะหักจุกและก้านผลออก วิธีการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร รายย่อยส่วนใหญ่จะใช้คนงานหักสับปะรดในแปลง แล้วใส่ภาชนะบรรจุ แบกมาขึ้น รถบรรทุก สำหรับการเก็บเกี่ยวของเอกชนรายใหญ่ จะมีรถยนต์ ที่มีแขน (boom) ยาว 16 เมตร ค่อยเคลื่อนไปตามถนนข้างแปลง คนงานจะเลือก สับปะรดที่ได้อายุเก็บเกี่ยว หักก้านและจุกออกแล้ววางบนสายพานที่พาดไป ตามแขน (boom) สายพานจะลำเลียงผลสับปะรดมารวบรวมนำขึ้นรถบรรทุก เพื่อส่งโรงงานต่อไป

การเก็บเกี่ยวสับปะรดเพื่อจำหน่ายผลสด

2.1) ตลาดภายในประเทศ สับปะรดผลสดที่ใช้บริโภคภายในประเทศควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลสับปะรดมีความสุกตาเหลืองไม่น้อยกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ (เบอร์4 – 5) การเก็บเกี่ยวต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผลช้ำ การตัดต้องใช้มีดคมตัดให้เหลือก้านยาวติดผลประมาณ 10.0 เซนติเมตร ขึ้นไป ไม่ต้องหัก จุกออก หลังจากตัดผลสับปะรดแล้วใสํภาชนะบรรจุ ลำเลียงใส่รถบรรทุกขนส่ง การจัดเรียงบนรถบรรทุกขนส่งให้เรียงผลสับปะรด ให้เป็นระเบียบ โดยเอาส่วนจุกลง ด้านล่าง และวางซ้อนขึ้นมาเป็นชั้น ๆ

2.2) ตลาดต่างประเทศ การเก็บเกี่ยวสับปะรดเพื่อส่งจำหน่าย ต่างประเทศ ผลสับปะรดควรมีอายุการเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่จะเก็บผลแก่เขียว (เบอร์ 0) ตาทุกตามีสีเขียวไม่มีสีเหลือง ซึ่งอาจดูได้จากการลอยน้ำ ผลจะลอยขนานกับน้ำ และผลสับปะรดจะต้องมีน้ำหนักตามที่ตลาดรับซื้อต้องการ จุกตรง ไม่มีโรคแมลงติดไปกับผล การขนส่งสับปะรดมายังโรงคัดบรรจุ จะต้อง ระมัดระวังไม่ให้ผลชอกช้ำ และไม่เรียงซ้อนทับกันมากชั้นเกินไป ควรมีไม้แบ่งแยก ชั้นบ้างเพื่อไม่ให้ผลด้านล่างรับน้ำหนักมากเกินไป การจัดเรียงจะเรียงตามนอน และสลับท้ายผลและจุกเป็นชั้น ๆ

อ้างอิง  :  ทวีศักดิ์ แสงอุดม (2560) สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

.
😊ไร่เทพ คุณภาพขั้นเทพ
สารที่เป็นส่วนผสมสำคัญ
1. สารฮิวมิค (Humus หรือ Humic Substance )
2. ฟูลวิค แอซิด (Fulvic Acid)
3. อะมิโนจากสาหร่ายทะเล
4. อะมิโนจากเลือดปลา
5. สารพิเศษจากอิสราเอล
6. สารในกลุ่มอาหารพืชอื่นๆ
😊ไร่เทพ คุณภาพขั้นเทพ
สอบถามข้อมูล-เทคนิคการปลูกพืชชนิดต่างๆ เรามีทีมส่งเสริมการขายที่เชี่ยวชาญ พร้อมตอบคำถามเกษตรกรตลอดเวลา
🌾👀🌾🍅🍆🌽🍄🌰 🍇🍈🍉🍊🍋🍌🍍🍎🍏🍐
—————————-
Tel. : 098-280-8200
—————————-