ผักกาดขาวปลี
ผักใบใหญ่ ต้นขาว อวบ กินง่ายและอยู่ในหลายเมนูประจำบ้านของคนไทย หากินได้ทุกฤดูกาล ถือเป็นเป็นพืชผักเศรษฐกิจ ที่มีความต้องการของตลาดต่อเนื่องทั้งปี ปัจจุบันมีเนื้อที่เพาะปลูกผักกาดขาวปลีประมาณ 30816 ไร่ ครอบคลุม 31 จังหวัด โดยแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ได้แก่ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ พิษณุโลก กาญจนบุรี และตาก ทั้งนี้ แม้ว่า จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 4 แต่มีผลผลิตสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เฉลี่ย 3734 กิโลกรัม / ไร่ (ข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร : พฤศจิกายน 2561) ผักกาดขาวปลีมีระบบรากตื้น จึงต้องการความชื้นที่พอเพียงและสมํ่าเสมอ โดยเฉพาะระยะที่ห่อหัว ควรรักษาความชื้นไว้ 70-85เปอร์เซ็นต์ ของความสามารถในการอุ้มนํ้าของดิน หากขาดนํ้าจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต พืชจะแสดงอาการขาดโบรอน และธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชสังเกตได้จากลำต้นจะกลวง เนื้อเยื่อเป็นสีดำ ต้นแคระแกร็น ส่วนแกนหรือไส้ของลำต้นจะเกิดอาการแยกแตกออก หรือเน่ากลวง ระบบรากจะไม่สมบูรณ์บางครั้งจะเน่าเสีย แต่ถ้าให้ความชื้นสูงเกินไปจะทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ ที่สำคัญระหว่างการปลูกต้องคอยตรวจแปลงให้ละเอียด เพราะหากมีโรคและแมลงเข้ามา จะได้จัดการได้ทันท่วงที โรคจะได้ไม่ลามระบาดสร้างความเสียหาย
ผักกาดขาวปลี (Chinese Cabbage) เป็นผักที่ปลูกกันมากในประเทศจีนตอนใต้ ไต้หวันและในประเทศไทย ผักกาดขาวปลีนับว่าเป็นผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีผู้นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายส่วนที่ใช้บริโภคได้แก่ส่วนใบ รับประทานเป็นผักสดหรือใช้ประกอบอาหารอื่น ๆ
สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม
ผักกาดขาวปลีสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ปลูกได้ดีที่สุดในช่วงเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธ์ ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด ชอบดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความเป็นกรด-ด่าง(pH)ของดินอยู่ในช่วงพอเหมาะประมาณ 6.0-6.8 และอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-25 องศา เซลเซียส ควรได้รับแสงแดดตลอดวัน
พันธุ์ผักกาดขาวปลี แบ่งตามลักษณะของปลีได้เป็น 3 พวกใหญ่ ๆ คือ
1.พันธุ์ปลียาว มีลักษณะทรงสูง รูปไข่ ได้แก่ พันธุ์มิชิลี หรือผักกาดหางหงส์, ผักกาดโสภณ, ผักกาดขาวปลีฝรั่ง
2.พันธุ์ปลีกลม ลักษณะทรงสั้นกว่า อ้วนกลมกว่า เช่น พันธุ์ซาลาเดียไฮบริด, พันธุ์ทรงบิค คอล ไพรด์ไอบริด ฯลฯ มักเป็นพันธุ์เบาอายุสั้น
3.พันธุ์ปลีหลวม หรือไม่ห่อปลี ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นเมืองของเอเชีย พวกนี้มักไม่ห่อปลี ปลูกได้แม้อากาศไม่หนาวฝนตกชุก ได้แก่ พันธุ์ผักกาดขาวใหญ่ (อายุ 45 วัน) ผักกาดขาวธรรมดา (อายุ 40 วัน) ความอร่อยน่ากินและเก็บรักษาได้นานสู้ผักกาดขาวพวกเข้าปลีไม่ได้
พันธุ์ผักกาดขาวปลีที่เกษตรกรนิยมใช้ เช่น – ตราดอกโบตั๋น – ตราช้าง – ตราเครื่องบิน – ตราเครื่องบินพิเศษ – พันธุ์เทียนจิน – พันธุ์เทียนจินเบอร์ 23 (เป็นพันธุ์ที่ทนร้อนปานกลาง)
การเตรียมดิน
1. แปลงเพาะกล้า ควรไถดินให้ดีตากไว้ 5-7 วัน หลังจากนั้นก็คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มาก พรวนย่อยดินให้ละเอียด โดยเฉพาะผิวหน้าดินเพื่อป้องกัน มิให้เมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กตกในดินลึก เกินไปเมื่อปลูกโดยใช้วิธีหว่าน
2.การปลูกแบบเป็นแถวหรือหยอดเป็นหลุม หยอดให้เมล็ดเป็นแถวบนแปลงปลูก โดยให้ระยะระหว่างแถวห่าง กัน เซนติเมตร ลึกประมาณ 0.5 – 1.0 เซนติเมตร หรือทําเป็นหลุมตื้น ๆ หยอดเมล็ดลงประมาณ 3-5 เมล็ด กลบดินหนา 0.5 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 2 ใบให้ทำการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น และถอนแยกครั้งสุดท้ายอายุไม่ควรเกิน 30 วัน
การเพาะและการย้ายกล้า
ให้หว่านเมล็ดให้ทั่วพื้นแปลงแล้วกลบด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหนา 0.5-1 เซนติเมตร หรืออาจหยอดเมล็ดเป็นแถวห่างกันแถวละ 5-10 เซนติเมตร ลึก 0.5-1เซนติเมตร เมล็ด ควรโรยให้ห่างกันพอสมควร แล้วกลบด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว แล้วรดน้ำให้ทั่วแปลงโดยใช้บัวละเอียด คลุมแปลงด้วยหญ้าแห้ง หรือฟางสะอาด ๆ บาง ๆ ช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินและป้อง กันการกระแทกของน้ำต่อต้นกล้าที่ยังเล็กอยู่ การย้ายกล้าควรย้ายตอนบ่าย ๆ ถึงเย็นหรือช่วงที่อากาศ มืดครึ้มย้ายปลูกเมื่อมีอายุ 25 วัน
การปฏิบัติดูแลรักษา
- การใส่ปุ๋ย เนื่องจากผักกาดขาวปลีเป็นผักกินใบ ควรให้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนเป็น 2:1:1 เช่น ปุ๋ยสูตร 20-10-10 หรือสูตรใกล้เคียงนี้ในอัตราประมาณ 50-100 กก./ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการแบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นจำนวนครึ่งหนึ่ง โดยใส่ตอนปลูกครั้งที่สองใส่เมื่อ ผักกาดอายุ 14 วัน ครั้งที่ 3 ใส่เมื่อผักกาดอายุ 30 วัน โดยโรยข้างต้นแล้วรดนํ้า สําหรับพวกพันธุ์ปลียาวและปลีกลมแน่น ควรให้ปุ๋ย ไนโตรเจน เช่น แคลเซียมไนเตรทหรือแอมโมเนียมซัลเฟต ในอัตรา 20-30 ก.ก. / ไร่ เมื่ออายุได้ 30-40 วัน โดยการหว่านหรือโรยข้างต้นก็ได้แล้วรดนํ้าตามทันที ระวังอย่าให้ปุ๋ยค้างที่ใบเพราะจะทําให้ใบไหม้
- การให้นํ้า ผักกาดขาวปลีต้องการนํ้ามากและสมํ่าเสมอ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตตลอดฤดูปลูก ดังนั้นควรให้นํ้าอย่างเพียงพอในช่วงการเจริญเติบโต และโดยเฉพาะในระยะเข้าปลี
- การพรวนดินและกําจัดวัชพืช ควรปฏิบัติหลังการย้ายกล้า 2 สัปดาห์พร้อมกับใส่ปุ๋ยและทําการพรวนประมาณ 2 -3 ครั้ง การเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยวผักกาดขาวปลีไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลักษณะพันธุ์ – พันธุ์ที่เข้าปลีไม่แน่น อายุที่เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 40-50 วัน หลังจากหว่านเมล็ด โดย เลือกเก็บเกี่ยวต้นเริ่มแก่เต็มที่ได้ขนาด (ในท้องถิ่นทางภาคกลาง) – พันธุ์ที่เข้าปลียาว หรือปลีกลมแน่น อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-80 วัน หลังจากหยอด เมล็ดที่เก็บเกี่ยวได้ โดยเก็บขณะปลีห่อแน่นเต็มที่ก่อนที่ปลีจะเริ่มคลายตัวหลวมออก (ในท้องถิ่นภาคเหนือ) การตัดใช้มีดคมตัดที่โคนต้น ตัดแต่งใบที่เป็นโรคและถูกแมลงทำลายออกบ้างพอสมควรแต่ไม่มากนัก เหลือใบนอก ๆ ไว้สัก 2-3 ใบ เพื่อป้องกันการกระทบกระแทกในระหว่างการขนส่ง
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
- 1. โรคเน่าเละ (Soft rot) สาเหตุ เกิดจากเชื้อราแบคทีเรีย ลักษณะอาการ เริ่มอาการของโรคเป็นจุดฉ่ำนํ้า ต่อมาจะเน่าอย่างรวดเร็ว ทําให้เนื้อเยื่อเปื่อย และเป็นนํ้าภายในเวลา 2-3 วัน ผักจะเน่า ยุบตัวหมดทั้งต้นและหัว หรือฟุบแห้ง เป็นสีนํ้าตาลอยู่ที่ผิว ดิน อาการเน่าจะเกิดส่วนใดก่อนก็ได้แต่โดยปกติจะเริ่มที่โคนกาบใบหรือตรงกลางต้นก่อน สันนิษฐาน ว่าเชื้อราบางชนิดทําลายไว้ก่อน การป้องกันกําจัด 1. ป้องกันมิให้เกิดแผลในระหว่างเก็บเกี่ยวขนส่ง และ การเก็บรักษา 2. ฉีดยาป้องกันแมลงและหนอน 3. ใช้ปุ๋ยที่มีธาตุโบรอนผสมด้วย โดยใช้ปุ๋ยบอแรกซ์อัตรา 10-20 กรัม/นํ้า 20 ลิตร 4. อาจใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น พวกสเตร็ปโตมัยซิน อากริไมซิน ฉีดพ่น
- 2. โรคเหี่ยวของผักกาดขาวปลี (Fusaarium wilt to Chinese Cabbage) สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Fusarium Oxysporum ลักษณะอาการ ผักจะมีใบล่างเหลืองและเริ่มสังเกตได้ง่าย คือ มีใบล่างเหี่ยวแห้งซีกใดซีกหนึ่ง ทําให้ใบเบี้ยวงอไปข้างที่ใบเหี่ยว ต่อมาใบทางซีกนั้นจะเหี่ยวเพิ่มขึ้น และเหี่ยวทั่วต้นในเวลาต่อมา หรือผักเจริญเติบโตแต่เพียงซีกเดียวก่อนแล้วเหี่ยวตาย เมื่อถอนดูรากจะขาดหลุดจากลําต้น เพราะผุเปื่อย เป็นสีนํ้าตาล ในดินเหนียวและดินทรายมักพบโรคนี้มาก
การป้องกันกำจัด 1. ก่อนปลูกผักควรมีการเตรียมดินให้ดีมีการใส่ปูนขาวแก้ไขดินเป็นกรดก่อนปลูก 2. ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมากในระยะต้นกล้า 3. ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับพื้นที่ดังกล่าว 4. ใช้ยาป้องกันกําจัดในโรคนี้มักได้ผลไม่คุ้มค่า
- 3. โรคเน่าคอดิน (Damping off) สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Pythium SP. ลักษณะอาการ โรคนี้จะเกิดเฉพาะในแปลงกล้าเท่านั้น การหว่านที่แน่นทึบอับลมและต้นเบียด กันมากมักจะเกิดโรค ต้นกล้ามักจะเกิดอาการเป็นแผลช้ำที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลเน่า และ แห้งไปอย่างรวดเร็วเมื่อถูกแสงแดดทําให้ต้นกล้าหักพับ เพราะมีแผลช้ำที่โคนต้นระดับดินต้นเหี่ยวแห้ง ตาย บริเวณที่เป็นโรคจะค่อยๆ ขยายวงกว้างออกเป็นวงกลม
การป้องกันกําจัด 1. ไม่ควรหว่านเมล็ดผักแน่นเกินไป 2. ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราละลายนํ้าในอัตราความเข้มข้นน้อย ๆ ราดลงไปบนผิวดินให้ทั่วสัก 1-2 ครั้ง เช่น เทอราคลอเบนฟอร์ด ซึ่งเป็นยาป้องกันกำจัดเชื้อราในดินโดยตรงจะมีผลยิ่งขึ้น หรือจะ ใช้ริคโดมิล เอ็มแซด72 ละลายนํ้ารดก็ได้ผลดีหรือใช้ปูนใส่รดแทนนํ้าในระยะที่เป็นต้นกล้าก็จะช่วยให้ ต้นกล้าแข็งแรง และไม่ต้องใช้ยาอีกเลย
- 4. โรคใบด่างของผักกาดขาวปลี สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส Turnip mosaic Virus ลักษณะอาการ ต้นที่เป็นโรคแสดงอาการใบด่างเขียวสลับเขียวเหลือง แคระแกรนตามบริเวณ เส้นใบจะพบเป็นสีม่วงปะปนอยู่เมื่อเป็นโรครุนแรงขึ้นใบจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลืองทั้งใบ และมีลักษณะ บิดงอเล็กน้อย
การป้องกันกําจัด 1. ใช้เมล็ดที่ปราศจากโรค 2. กําจัดต้นที่แสดงอาการของโรคในระยะแรก โดยการเผาทําลาย 3. ป้องกันกําจัดแมลงพาหะพวกเพลี้ยอ่อนด้วยสารเคมี โอเมทโทเอท ในอัตรา 30 ซีซี./นํ้า 20 ลิตร
- 5. โรครานํ้าค้าง สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา (Peroros Pora SP.) ลักษณะอาการ ด้านบนใบเป็นรอยด่างสีเหลืองซีด ต่อมาแสดงอาการไหม้ทับใต้ใบปรากฏเส้นใยสีขาวเจริญขึ้นมา อาการลุกลามจากใบรอบนอกเข้าสู่ใบด้านใน หากเป็นรุนแรงทําให้ใบไหม้ การป้องกันกําจัด เมื่อเริ่มพบอาการให้ใช้สารเคมี ไดเมทเอ็ม หรือ อาโคนิล ฉีดพ่น หากมีการระบาดรุนแรงให้ใช้ เอพรอน35 ฉีดพ่น 1 ครั้ง
- 6. โรคใบจุด สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา (Altennaria SP.) ลักษณะอาการ เป็นจุดค่อนข้างกลมสีนํ้าตาล ลักษณะแผลเป็นวงซ้อนกัน การป้องกันกําจัด หากมีระบาดมากให้ใช้สารเคมรอฟรัล สลับกับแอนทราโคล ตามฉลากข้างภาชนะบรรจุ
แมลงศัตรูในผักกาดขาวปลี
หนอนใยผัก (Dimondback moth) หนอนใยผักมีวงจรชีวิตที่สั้น และมีการแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็ว และวางไข่ได้ตลอดชีวิต แหล่งปลูกส่วนใหญ่มีการปลูกผักวงศ์กะหล่ำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้มีพืชอาหารตลอด จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พบการระบาดของหนอนใยผักเสมอส่งผลให้เกษตรกรมีการใช้สารกำจัดแมลงพ่นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้หนอนใยผักมีการพัฒนาสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้รวดเร็วและมากชนิด
การป้องกันกำจัด
กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เป็นกับดักทรงกระบอก หรือกระป๋องน้ำมันเครื่องทาด้วยกาวเหนียวสีเหลือง ทุก 7-10 วัน / ครั้ง สามารถจับผีเสื้อหนอนใยผักได้เฉลี่ย 16 ตัวต่อวันต่อกับดัก โดยจับผีเสื้อเพศเมีย : เพศผู้ได้ 0.79 : 1 และเมื่อติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง จำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถลดการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
กับดักแสงไฟ หลอดสีน้ำเงิน 20 วัตต์ เป็นหลอดเรืองแสงที่เหมาะสมในการใช้จับผีเสื้อหนอนใยผักมากที่สุด มีราคาถูกกว่าหลอด blacklight-blue 20 วัตต์ และปลอดภัยไม่มีอันตรายจากแสงอุลตร้าไวโอเล็ตในการติดตั้งกับดักแสงไฟควรติดตั้งรอบนอกแปลงผัก และควรดำเนินการติดตั้งพร้อมกันในพื้นที่
การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง โดยการปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อนขนาด 16 เมช (256 ช่องต่อตารางนิ้ว) สามารถป้องกันการเข้าทำลายของหนอนใยผักและหนอนผีเสื้ออื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดอย่างมิดชิดตลอดเวลาเพื่อป้องกันผีเสื้อเพศเมียเล็ดลอดเข้าไปวางไข่
การใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เนื่องจากหนอนใยผักเป็นแมลงที่สามารถสร้างความต้านทาน ต่อสารป้องกันกำจัดแมลงได้รวดเร็วและหลายชนิด โดยเฉพาะในแหล่งปลูกการค้า เช่น บางแค ไทรน้อย บางบัวทอง เป็นต้น การพิจารณาเลือกใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ที่มีประสิทธิภาพก็เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันกำจัดหนอนใยผัก ไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตผักกาดขาวปลีให้เกิดความเสียหายได้ สารป้องกันกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก ดังแสดงในตารางที่ 1
ด้วงหมัดผักแถบลาย (leaf eating beetle) ด้วงหมัดผักพบแพร่ระบาดอยู่โดยทั่ว ๆ ไปในธรรมชาติ พบ 2 ชนิด คือ ด้วงหมัดผักแถบลาย (P. sinuata) และด้วงหมัดผักสีน้ำเงิน (P. chontanica) ชนิดที่ สำคัญ คือ ด้วงหมัดผักแถบลาย ตัวอ่อนกัดกิน หรือชอนไชเข้าไปอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผัก ทำให้พืชผักเหี่ยวเฉาและไม่เจริญเติบโต ถ้ารากถูกทำลายมาก ๆ ก็อาจจะทำให้พืชผักตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูพรุน ด้วงหมัดผักช่วงอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดด และสามารถบินได้ไกล ๆ
วิธีเขตกรรม การลดการระบาดของด้วงหมัดผัก สามารถทำได้โดยการไถตากดินไว้เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน นอกจากนี้ควรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ด้วงหมัดผักไม่ชอบเป็นการช่วยลดการระบาดได้อีกทางหนึ่ง
การใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) อัตรา 4 ล้านตัวต่อพื้นที่20 ตารางเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นหรือราดทุก 7 วัน เพื่อฆ่าตัวอ่อนด้วงหมัดผักในดิน
การใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี หรือ โพรไทโอฟอส 50% อีซี/อัตรา 40 กรัม, 50 มล. และ 40 มล. / น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ ยังคงใช้ได้ผลดีในแหล่งปลูกผักใหม่ ๆ ที่มีการ ระบาดไม่รุนแรง ส่วนในแหล่งที่ปลูกผักเป็นประจำ ควรใช้สารกำจัดแมลงเช่น ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 50 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ อะเซตามิพริด 20% เอสพี อัตรา 20 กรัม / น้ำ 20 ลิตร จะให้ผลดีกว่า
ที่มา : รู้จริงเรื่องพืชกับกรมวิชาการเกษตร (กรมวิชาการเกษตร)
การปลูกผักกาดขาวปลี (กรมส่งเสริมการเกษตร)
คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ไร่เทพกับผักกาดขาวปลี
การใช้ดินเทพ
– ช่วงเตรียมดิน ยกร่อง เตรียมปลูก ใช้ดินเทพ 50 ซีซี ผสมน้ำ 60 ลิตร ฉีดพ่นในพื้นที่ 1ไร่ ก่อนปลูก
การใช้ไร่เทพ และโล่เขียว
– ระยะต้นกล้า(แตกใบอ่อน) ใช้โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะเจริญเติบโต ใช้โล่เขียว 100 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะเข้าปลี ใช้โล่เขียว 200 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน
– ระยะก่อนเก็บเกี่ยว ใช้โล่เขียว 200 ซีซี + ไร่เทพ 1 ซอง ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 10-15 วัน