1.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สามารถแยกประเภทได้จากลักษณะภายนอกของเมล็ดออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวโพดหัวบุ๋ม (Dent Corn) เป็นข้าวโพดที่เมล็ดตอนบนมีรอยบุบสีขาว เนื่องจากตอนบนเป็นแป้งชนิดอ่อน (Soft starch) และด้านข้างเมล็ดเป็นแป้งชนิดแข็ง (corneous starch) เมื่อตากให้แห้งส่วนที่เป็นแป้งอ่อนจึงหดยุบตัวและเกิดลักษณะหัวบุบดังกล่าว มีลำต้นสูงตั้งแต่ 2.5 – 4.5 เมตร ฝักยาวตั้งแต่ 15 – 30 เซนติเมตร และมีเมล็ดระหว่าง 8 – 24 แถว และข้าวโพดหัวแข็ง (Fint Corn) เป็นข้าวโพดที่มีลักษณะเมล็ดค่อนข้างแข็งแรง กลม เรียบ หัวไม่บุบ เพราะมีแป้งชนิดอ่อนอยู่ตรงกลางแต่ด้านนอกถูกห่อหุ้มด้วยแป้งชนิดแข็ง เมื่อตากให้แห้งจึงไม่หดตัว มีขนาดฝักและจำนวนแถวน้อยกว่าชนิดหัวบุบ ซึ่งพบว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นภายในเมล็ดจะมีสารที่ทำให้ข้าวโพดมีสีเหลืองจัดเป็นสารให้สีที่ชื่อ คริปโทแซนทิน (Cryptoxanthin) โดยสารนี้เมื่อสัตว์ได้รับแล้วร่างกายสัตว์จะเปลี่ยนสารนี้ให้เป็นวิตามินเอ นอกจากนี้สารนี้ยังช่วยให้ไข่แดงมีสีแดงเข้ม ช่วยให้ไก่มีผิวหนัง ปาก เนื้อ และแข้งมีสีเหลืองเข้มขึ้น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นับว่าเป็นพืชไร่ชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพที่จะใช้ปลูกในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา ประมาณ 2-3 เท่า ปัจจุบันนิยมปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนิยมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบที่มีสีเหลืองเข้ม โดยมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกือบตลอดทั้งปี
2.มันเทศ
มันเทศ เป็นพืชอายุยืน ไม่มีเนื้อไม้ รากแตกตามข้อและมีรากที่ขยายใหญ่เพื่อสะสมอาหาร มีรูปร่าง ขนาด จำนวนและสีของหัวต่างกัน ตั้งแต่สีขาว สีเหลือง สีน้ำตาล สีแดง และสีม่วง ซึ่งมันเทศถือเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่เป็นแหล่งของใยอาหารที่ดีเยี่ยม ความที่ใยอาหารมีส่วนช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ โดยมันเทศที่พบได้ในประเทศไทยนั้น ส่วนมากจะพบได้ 3 สี นั่นคือสีส้ม สีเหลือง และสีม่วง ซึ่งมันเทศที่มีสีต่างกันเหล่านี้จะมีสารอาหารบางชนิดต่างกัน กล่าวคือ มันเทศในตระกูลสีม่วงจะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันโรคมะเร็ง และช่วยรักษาอาการของโรคเบาหวาน ส่วนมันเทศในตระกูลสีส้มและสีเหลืองนั้นก็มีสารเบต้าแคโรทีนและแคโรทีนอยด์อยู่เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดหนึ่ง และเบต้าแคโรทีนนั้นยังเปลี่ยนเป็นวิตามินเอที่ช่วยในการพัฒนาสุขภาพสายตาและการมองเห็น ช่วยบำรุงผิวพรรณทำให้ผิวอ่อนเยาว์ นอกจากนั้นแล้วมันเทศยังอุดมด้วยวิตามินซี วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 และวิตามินบี 6 ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงสมองและระบบประสาท ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดอาการหงุดหงิดอีกด้วย
3.ผักคะน้า
คะน้าจัดเป็นพืชใบเขียวที่ใบมีสีเขียวจัด และเป็นผักที่กินได้ทั้งใบไปจนถึงก้าน โดยผักคะน้าจะมีอายุ 2 ปี แต่ปลูกเป็นผักฤดูเดียว อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-55 วัน ซึ่งผักคะน้านั้นสามารถปลูกได้ตลอดปี คะน้ามีวิตามินหลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีนที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แถมยังมีวิตามินซีช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อให้ชุ่มชื้น และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคมีความแข็งแรงสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีแคลเซี่ยมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก นอกจากนั้นยังพบ กอยโตรเจน (goitrogen)ในคะน้า ซึ่งถ้าบริโภคมากทำให้ท้องอืด ดังนั้นเราจึงไม่ควรนำมารับประทานดิบควรนำไปทำให้สุกก่อน ไม่ว่าจะด้วยการต้ม ลวก ผัด ให้ความร้อนทำลายสารกอยโตรเจนจหมดเสียก่อนจึงนำมารับประทานได้อย่างปลอดภัย
4.เห็ดฟาง
ลักษณะดอกเห็ดอ่อนเป็นรูปทรงไข่มีเปลือกหุ้ม เมื่อโตขึ้นเปลือกที่หุ้มจะปริแตก โดยจะเหลือเปลือกหุ้มที่โคนก้าน ผิวนอกของเปลือกหุ้มส่วนมากมักเปลี่ยนเป็นสีขาวหม่นหรือสีเนื้อ หมวกเห็ดมีขนละเอียดสีน้ำตาลดำหรือสีน้ำตาลแดง ผิวสีขาวนวลมีขนสีขาว เนื้อเป็นเส้นหยาบสีขาวรวมกันแน่น ผิวเรียบ ซึ่งเห็ดฟางนั้นจะช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันหวัด บำรุงตับ ระงับเซลล์เนื้องอก-มะเร็ง สร้างความสมดุลในเม็ดเลือดขาว ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน โรคเหงือก และช่วยลดผื่นคัน โดยเห็ดฟางเป็นเห็ดยอดนิยมของคนไทยซึ่งนิยมเพาะกันบนกองฟางข้าวชื้นๆ โคนมีสีขาว ส่วนหมวกสีน้ำตาลอมเทาหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด นอกจากนั้นแล้วเห็ดฟางยังมีวิตามินซีสูงและมีกรดอะมิโนสำคัญอยู่หลายชนิด หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันการติดเชื้อต่างๆ อีกทั้งยังช่วยลดความดันโลหิตและเร่งการสมานแผล
5. ผักกวางตุ้ง
ผักกวางตุ้งเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก อยู่ในตระกูลกะหล่ำและผักกาด มีก้านใบยาว มีก้านใบหนาและยาวอวบน้ำ มีสีเขียวอ่อน หรือสีขาวตามสายพันธุ์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ผิวใบบางเรียบ ใบมีสีเขียว ดอกออกเป็นช่อ ดอกมีลักษณะเล็กๆ กลีบดอกมีสีเหลืองสด ผักกวางตุ้งสามารถรับประทานสดได้ มีรสชาติหวานกรอบ แต่จะมีกลิ่นเหม็นเขียว ในผักกาดเขียวกวางตุ้งจะมีเส้นใยอาหารที่ช่วยเพิ่มกากใยอาหารในลำไส้ให้ขับถ่ายสะดวก มีแคลเซียมที่จะช่วยบำรุงกระดูกและฟัน มีฟอาฟอรัสที่จำเป็นต่อระบบเผาผลาญในร่างกาย มีธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงเลือด และมีวิตามินซีที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันขณะที่วิตามินเอและเบต้าแคโรทีนที่มีอยู่สูงในผักกาดเขียวกวางตุ้งจะช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าต้องการได้รับประโยชน์จากวิตามินซีและเบต้าแคโรทีนอย่างเต็มที่ควรกินสด
6.ถั่วเขียวผิวมัน
ถั่วเขียวผิวมัน เป็นถั่วเขียวชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเมล็ดสีเขียวมีมันวาว ฝักเมื่อแก่จะลักษณะสี 2 สี ตามสายพันธุ์ คือ พันธุ์อู่ทอง 1 ฝักจะมีสีดำ และพันธุ์พื้นเมืองฝักจะสีขาวนวล โดยถั่วเขียวนั้นเป็นพืชที่มีอายุสั้น หรือวงจรชีวิตของถั่วเขียวมันสั้น จึงใช้น้ำน้อยกว่าพืชไร่อื่นหลายชนิดและงอกได้เร็ว จึงสามารถใช้ในระบบปลูกพืช เช่น ทดแทนข้าวนาปรัง ปลูกก่อนข้าวโพดในพื้นที่ประสพภัยแล้ง ใช้ปลูกก่อนหรือหลังการทำนาหรือทำไร่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืช โดยจะช่วยบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตรึงไนโตรเจนได้ดี สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดให้ปริมาณไนโตรเจนสูง ถั่วเขียวใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตแป้งวุ้นเส้น เพาะถั่วงอก และประกอบอาหารอื่นๆ
7.มะระจีน
มะระจีน เป็นพืชล้มลุกปีเดียวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน มีลักษณะลำต้นเป็นเถาเลื้อยยาวตามพื้นดินหรือตามต้นไม้ที่ขึ้นรอบข้าง ลำต้นเป็นเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยว ใบเว้าเป็นแฉก ขอบใบเป็นร่องห่าง มีขนสากตามลำต้น และใบ ดอกมีสีเหลืองออกตามช่อใบ ผลดิบมีลักษณะสีเขียวอ่อน ผิวขรุขระเป็นร่องกว้างตามแนวยาวของผล รสขมเกิดจากสารโมมอร์ดิซิน ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ที่ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยออกฤทธิ์คล้ายสารอินซูลิน จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานควรกิน และมะระสามารถช่วยต้านโรคมะเร็ง เนื่องจากมะระจะไปขัดขวางการผลิตกลูโคสและการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับอ่อน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็งในตับ ลำไส้ใหญ่ เต้านม และต่อมลูกหมากด้วย
8.พริก
พริกเป็นพืชล้มลุก มี ผล เป็นผลเดี่ยว เป็นผลสด ประเภทเบอร์รี่ มีลักษณะเป็นกระเปาะผิวบางมัน โดยเนื้อพริกมีตั้งแต่บางจนถึงหนาขึ้นอยู่กับพันธุ์ และสีของผลอ่อน มีทั้งสีเหลืองอ่อน สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม รวมถึงสีม่วง เมื่อผลสุกผลอาจจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ส้ม เหลือง น้ำตาล ขาวนวล หรือ สีม่วง และพริกนั้นมีสารแคพไซซินทำให้เจริญอาหารที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น แก้หวัด ขับลม ช่วยสูบฉีดโลหิต ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ บำรุงธาตุที่ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น พริก ยังมีสารที่เปลี่ยนเป็นวิตามินเอและวิตามินซีสูงซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
9.แตงกวา
แตงกวามีรากแก้ว แตกแขนงเป็นจำนวนมาก ลำต้นเป็นเถามีขนขึ้นมีขนขึ้นปกคลุมทั่วไป มีข้อ มีหนวดเกาะบริเวณข้อโดยส่วนปลายของหนวดไม่มีการแตกแขนง ใบมีก้านใบ ใบหยาบมีขนใบ มีมุมใบ ปลายใบแหลม ดอกเพศผู้เพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลแตงกวามีลักษณะเรียวยาวทรงกระบอก มีใส้ภายในผล แตงกวา ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนมาก มีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม วิตามินซี และบี นอกจากนี้ผลของแตงกวายังมีสารเอนไซม์อยู่หลายชนิด และในส่วนของเถาและเมล็ดจะมีฟอสฟอรัสในปริมาณสูง จึงเชื่อว่าการบริโภคแตงกวาอาจให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย
10.ถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาวมีลักษณะลำต้น เป็นเถาเลื้อย เถาแข็งและเหนียว คล้ายกับถั่วพู แต่มีอายุเพียงปีเดียว หรือฤดูเดียว เถาสีเขียวอ่อน ลำต้นม้วนพันสิ่งยึดเกาะได้ดี ใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกเป็นดอกช่อออกตามซอกใบกลีบดอกสีขาวหรือน้ำเงินอ่อน ฝักเป็นฝักกลม มีหลายเมล็ด ซึ่งถั่วฝักยาวเป็นพืชผักสมุนไพรที่มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา ใช้นำมารักษาโรคต่างๆ ได้หลายอย่าง ถั่วฝักยาวจะมีกลิ่นเฉพาะตัว และสามารถนำมาประกอบ ปรุงอาหารเมนูได้มากมายหลากหลายเมนู ถั่วฝักยาวเป็นผักที่จะใช้ฝัก เป็นผักสดกินกับอาหาร กินกับแกล้มก็จะเข้ากันดี